ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

ลาวปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนผลิตไฟฟ้า

ที่ประชุมประจำปีของภาคพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาว เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งมี ดร. คำมะนี อินทิลาด 
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว เป็นประธาน รับทราบแผนการตรวจสอบความปลอดภัยและมาตรฐาน
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดยกระทรวงพลังงานฯ จะร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น 
และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าตรวจสอบเขื่อนขนาดเล็ก 354 โครงการ ทั้งที่เริ่มผลิตไฟฟ้าแล้ว 39 โครงการ 
อยู่ระหว่างก่อสร้าง 24 โครงการ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 291 โครงการ โดยหลังจากที่ได้รับรายงาน 
ด้านความปลอดภัยจากผู้พัฒนาโครงการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานฯ และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจะเข้าตรวจสอบ
โครงการและมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นติดตามการดำเนินงานของโครงการอย่างละเอียด ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานฯ  
จะเข้าตรวจสอบโครงการก่อนฤดูฝน และอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อบริหาร
จัดการความปลอดภัยของเขื่อน อีกทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกรมบริหารจัดการความปลอดภัยเขื่อน 
โดย สปป. ลาวประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกองค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large 
Dams: ICOLD) 

ในปี 2562 สปป. ลาวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศจำนวน 1,222 เมกะวัตต์ และคาดว่าในช่วงปี 2563 – 2568 
จะเพิ่มเป็น 1,800 เมกะวัตต์ ในขณะที่ในช่วงปี 2563 – 2573 คาดว่า สปป. ลาวจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ 
ซึ่งจะเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ และจะส่งออกไฟฟ้าส่วนที่ผลิตได้เกินความต้องการไปยัง ประเทศต่าง ๆ 
ในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการนำเข้าไฟฟ้าของไทย 9,000 เมกะวัตต์ กัมพูชา 6,000 เมกะวัตต์ เวียดนาม 
5,000 เมกะวัตต์ เมียนมา 300 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ขณะที่สิงคโปร์อยู่ระหว่างการเจรจา ซื้อไฟฟ้าจาก 
สปป. ลาว ข้อมูลจากกรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ระบุว่า มูลค่าส่งออกไฟฟ้า
ของ สปป. ลาวในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นผู้นำเข้าไฟฟ้า อันดับหนึ่งจาก สปป. ลาว 

ที่มา: นสพ. Vientiane Times วันที่ 2 มี.ค. 2563

03/13/2020



กลับหน้าหลัก