อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 2563 ลดลงเล็กน้อย
ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อลาวเดือน มิ.ย. 2563 ลดลง
มาอยู่ที่ร้อยละ 5.28 จากร้อยละ 5.46 เมื่อเดือน พ.ค. 2563 เนื่องจากราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะหมวดอาหาร
และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีการปรับตัวลงร้อยละ 0.47 เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 ที่พักอาศัย
ไฟฟ้า น้ำประปา และเชื้อเพลิงหุงต้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 สินค้าเพื่อสุขภาพและ
ยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 การคมนาคมและขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 และสินค้าและบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.20
ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) ความผันผวนของราคาสินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบ
จากโควิด 19 เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดสุขภาพและยา (2) การส่งเสริมการผลิตสินค้า
ภายในประเทศที่ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และสินค้าที่ผลิตได้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต
เช่น เครื่องจักรกล ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยา วัคซีนป้องกันโรคระบาดในสัตว์ พันธุ์สัตว์ อีกทั้งฐานการผลิตของ สปป. ลาว
ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร (3) ราคาสินค้าสำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาทองคำ และ
(4) อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบกับบาทและดอลลาร์สหรัฐยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน มิ.ย. 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคำนวณจากรายการสินค้า 402 รายการ หรือร้อยละ 82.9 ของรายการสินค้า
และบริการทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนักการบริโภคร้อยละ 55.6
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน มิ.ย. 2563 ลดลงที่ติดลบร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.28
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าประเภทอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น โดยคำนวณจากรายการสินค้า
83 รายการ หรือร้อยละ 17.7 ของรายการสินค้าและบริการทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนักการบริโภคร้อยละ 44.4
ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อสินค้าภายในประเทศและสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับ เดือน พ.ค. 2563
และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าประเภทอาหารสด เช่น เนื้อหมู โค
และกระบือ และราคาทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น โดยคำนวณจากรายการสินค้า 230 รายการ หรือร้อยละ 47.4 ของรายการสินค้า
ทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 69.3
ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 5 ก.ค. 2563
https://laoedaily.com.la/2020/08/05/81185/
08/14/2020