ผลการสำรวจวิสาหกิจ สปป. ลาวทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ในฐานะหัวหน้าคณะชี้นำ
ระดับชาติในการสำรวจเศรษฐกิจทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 เป็นประธานการประชุมเผยแพร่ ผลการสำรวจเศรษฐกิจทั่วประเทศ
ครั้งที่ 3 โดยมีนางพอนสะหลี สุกสะหวัด หัวหน้าศูนย์สถิติแห่งชาติ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รัฐบาล สปป. ลาวได้ให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการผลิตข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบาย การติดตาม
การปฏิบัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละระยะ และเป้าหมายการพัฒนา แบบยั่งยืน (SDGs) ซึ่งผลการสำรวจ
ครั้งนี้จะเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 โดยเฉพาะ
การพัฒนาชนบท การขจัดความยากจน การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการบริการ
ตามแนวทางการพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ที่ทันสมัย การสำรวจเศรษฐกิจทั่วประเทศจะดำเนินการในทุก 5 ปี
โดยเริ่มสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2549 ครั้งที่ 2 ปี 2556 และครั้งที่ 3 ปี 2562 – 2563 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากวิสาหกิจและร้านค้า
โดยอิงตามกฎหมาย ว่าด้วยสถิติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถิติแห่งชาติ การออกแบบและเป้าหมายการสำรวจในครั้งนี้
คือ การขึ้นบัญชีวิสาหกิจและร้านค้าทั่วประเทศประจำปี 2562 โดยสำรวจจากวิสาหกิจทุกรูปแบบและทุกระดับขั้นการคุ้มครอง
ยกเว้นสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร
จากผลการสำรวจพบว่า วิสาหกิจ สปป. ลาวทั่วประเทศมีทั้งหมด 133,997 วิสาหกิจ ซึ่งเมื่อเทียบกับ ผลการสำรวจปี 2556
เพิ่มขึ้น 9,124 วิสาหกิจ (ผลการสำรวจปี 2556 มีประมาณ 124,873 วิสาหกิจ) วิสาหกิจ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7
เริ่มดำเนินกิจการในปี 2553 – 2562 รองลงมาร้อยละ 20.1 เริ่มดำเนินกิจการในปี 2543 – 2552 และร้อยละ 5.2
เริ่มดำเนินกิจการในปี 2513 – 2542 แขวงที่มีวิสาหกิจตั้งอยู่มากที่สุด คือ นครหลวงเวียงจันทน์ คิดเป็นร้อยละ 22.3
(28,643 วิสาหกิจ) รองลงมา คือ แขวงจำปาสัก ร้อยละ 11.8 และสะหวันนะเขต ร้อยละ 11.4 โดยแขวงที่มีจำนวนวิสาหกิจ
ตั้งอยู่น้อยที่สุด คือ แขวงไซสมบูน ซึ่งมีเพียง 1,020 วิสาหกิจ รองลงมา คือ แขวงเซกอง 1,683 วิสาหกิจ และพงสาลี 1,699 วิสาหกิจ
ประเภทวิสาหกิจที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือ วิสาหกิจรายย่อย คิดเป็นร้อยละ 94.2 (126,168 วิสาหกิจ) รองลงมา คือ
วิสาหกิจขนาดย่อม 6,600 วิสาหกิจ วิสาหกิจขนาดกลาง 954 วิสาหกิจ และวิสาหกิจขนาดใหญ่ 276 วิสาหกิจ วิสาหกิจ
ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 63.8 รองลงมา คือ ภาคบริการ ร้อยละ 20.4 และการผลิต ร้อยละ 15.9
ด้านแรงงานมีทั้งหมด 490,373 คน เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.1 โดยแรงงานส่วนใหญ่ อยู่ในภาคการค้าปลีก – ค้าส่ง
(ร้อยละ 46.6) รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ร้อยละ 22.5 และภาคบริการห้องพักและร้านอาหาร ร้อยละ 12.3
ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 17 ก.พ. 2564
02/26/2021