ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

ADB คาดเศรษฐกิจ สปป. ลาวปีนี้จะฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 4

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 นาง Sonomi Tanaka ผู้อํานวยการสํานักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจํา สปป. ลาว
กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ พร้อมกับสิ่งท้าทายด้านโครงสร้าง เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ของ สปป. ลาว โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาวจะขยายตัวในระดับ ร้อยละ 4 ในปี 2564 และร้อยละ 4.5 ในปี 2565 
ซึ่งเป็นผลจากการเกษตรกรรมที่ดีขึ้นและการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทดแทนการชะลอตัวของภาคบริการ

สิ่งจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและปกป้องสวัสดิภาพครัวเรือนการ คือ การเร่งฉีดวัคซีน และมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็ง
ในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของนักลงทุน นอกจากนี้ มาตรการที่เข้มงวดต่อนักท่องเที่ยวในปี 2563 
ส่งผลต่อการลดความต้องการในการบริโภคภายในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านการเงินของภาครัฐ
ได้รับผลกระทบอย่างมากไปพร้อมกันกับการลดอันดับ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล สปป. ลาว เนื่องจากความกดดันด้านสภาพคล่อง
จากภายนอกที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางทางเลือกในการกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จำกัด

ในปี 2564 คาดว่าภาคการเกษตรจะฟื้นตัวในระดับปานกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกพืช
เพื่ออุปโภคและบริโภคจะเกิดความล่าช้าเนื่องจากสภาพอากาศ นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะได้รับอานิสงค์
จากการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และอสังหาริมทรัพย์ในตัวเมือง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2564
และ 2565 ซึ่งจะช่วยสร้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือน และคาดว่าการขยายตัวของภาคบริการจะดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการอุปโภค
และบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์ อาทิ ทางด่วนเวียงจันทน์ - วังเวียง
นอกจากนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะกลับคืนสู่สภาพปกติ ในปี 2565 ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจในระยะกลางคาดว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม การขนส่ง และการสื่อสาร 

อย่างไรก็ดี ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ
ของ สปป. ลาวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2563 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2564 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นที่
ร้อยละ 5 ในปี 2565 เนื่องจากความกดดันจากราคาสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของค่าเงินกีบ แต่จะได้รับการชดเชย
บางส่วนจากการผลิตภายในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะการระดมทุนภายในประเทศ การขาดดุลงบประมาณของรัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โครงสร้างด้านเศรษฐกิจมหภาคของ สปป. ลาวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความกดดันด้านการชำระหนี้ รวมทั้งอัตราการกู้ยืมเพื่อมาชำระหนี้
มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างพื้นฐานด้านงบประมาณเพื่อรองรับการขยายตัว และปฏิรูปหนี้สาธารณะให้มีความโปร่งใส

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจสังคม นสพ. Vientiane Times และ นสพ. ประชาชน วันที่ 29 เม.ย. 2564

05/07/2021



กลับหน้าหลัก