ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

โครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ กับการเปลี่ยนแปลง Landscape ของ สปป. ลาว ครั้งใหม่

สปป. ลาว เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกทะเล (Land-locked) จึงส่งผลให้เกิดข้อจำกัด
ด้านเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูง การนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกสินค้า
จำเป็นต้องส่งสินค้าผ่านท่าเรือของประเทศที่สาม ด้วยข้อจำกัดข้างต้น จึงไม่เอื้อต่อการดึงดูดนักลงทุนให้ขยายฐาน
การผลิตมาใน สปป. ลาว

รัฐบาล สปป. ลาวชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้แผน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 - 2568) เพื่อยกระดับจากประเทศที่ไม่มี
ทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงใน อนุภูมิภาค (land-locked to land-linked) และเป็นสะพานเชื่อม
เศรษฐกิจกับภูมิภาค ตลอดจนนโยบาย Lao Logistics Link (LLL) เพื่อสร้างโอกาสและปรับเปลี่ยน Landscape ของ สปป. ลาว
ให้เป็นศูนย์กลางด้าน โลจิสติกส์และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคต

กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ในนามของรัฐบาล สปป.ลาว ได้อนุมัติสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ให้แก่บริษัท
เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จำกัด (Vientiane Logistics Park : VLP ในเครือบริษัท สิดทิโลจิสติกส์ลาว จำกัด) เป็นผู้พัฒนา
ท่าบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry Port) และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) บนพื้นที่ขนาด
 2,387.5 ไร่ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นด่านสากลให้บริการด้านพิธีศุลกากรสำหรับสินค้า
ขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ และสินค้า ผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา

โครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยเชื่อมโยงกับ (1) สถานีรถไฟท่านาแล้ง (โครงการรถไฟไทย-ลาว) (2) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-
นครหลวงเวียงจันทน์) และ (3) ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ (สถานีปลายทางสำหรับขนส่งสินค้า โครงการรถไฟลาว-จีน)

โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนโฉมการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์และการเชื่อมต่อของ สปป. ลาว เท่านั้น แต่ยังได้สร้าง
สิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
การวางระบบคลังสินค้า ลานกองตู้สินค้า การบริหารจัดการระบบภาษีและพิธีศุลกากร เขตโลจิสติกส์ครบวงจร เขตพาณิชย์
และพื้นที่สำนักงานให้เช่าสำหรับกิจการต่างประเทศ เขตอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออก การสร้างเส้นทางขนส่งสินค้า
ทางรถบรรทุกจากสะพานมิตรภาพสู่พื้นที่ VLP การปรับปรุงลานกองตู้สินค้าขนาดใหญ่ การสร้างจุดเชื่อมจอด (Meeting point)
สำหรับรถไฟไทย-ลาว และรถไฟลาว-จีน และการปรับปรุงกฎระเบียบภายในต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
ทั้งภายในและต่างชาติ ที่ถือว่าเป็นหมุดหมายแรกในการดำเนินยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของ สปป. ลาว

รัฐบาล สปป.ลาว ได้จดทะเบียนท่าบกเป็น “A Dry Port of International Importance” จำนวน 9 แห่ง โดยมีท่าบกท่านาแล้ง
เป็น 1 ใน 9 แห่งที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
(UNESCAP) ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการจัดตั้งท่าบก เลขที่ 69/7 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 และได้ให้สัตยาบัน
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2019

นอกจากโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์แล้ว รัฐบาล สปป.ลาวยังมีโครงการพัฒนาระบบ
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์อีกหลายโครงการ อาทิ (1) โครงการทางด่วนนครหลวงเวียงจันทน์-ด่านสากล
บ่อเต็น ที่จะช่วยยกระดับโครงข่ายเส้นทางทางบกไปยังประเทศจีน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าขึ้นไปทางเหนือ
(2) โครงการเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่จะเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์-ท่าแขก-นาเพ้า-ท่าเรือหวุงอ่าง เป็นโครงการ
ขนาดใหญ่ด้านการเชื่อมต่อ สปป. ลาวสู่ทางออกทะเล ในเวียดนามที่ใกล้ที่สุด (3) โครงการพัฒนาท่าเรือหวุงอ่าง
ในเวียดนามซึ่ง สปป. ลาวได้สิทธิ์ในการบริหารและพัฒนาเต็มรูปแบบ โครงการ Mega Projects เหล่านี้มีส่วนสำคัญ
ในการขับเคลื่อนนโยบายของ สปป. ลาว จาก Land-locked สู่ Land-linked อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างทางเลือก
ในการขนส่งสินค้าให้กับภูมิภาค

ข้อมูลอ้างอิง
https://vientianelogisticspark.com/
https://www.thestorythailand.com/26/01/2022/53259/

08/22/2022



กลับหน้าหลัก