ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

การประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กรณีเปรียบเทียบระหว่าง สปป. ลาวและศรีลังกา

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในศรีลังกาได้ก่อให้เกิดคำถามว่า สภาพเศรษฐกิจและการขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิง ที่เกิดขึ้น
ในสปป. ลาว นั้น จะนำไปสู่สถานการณ์คล้ายคลึงเช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกาหรือไม่ เนื่องจากมีค่าดัชนี ชี้วัดทางเศรษฐกิจหลาย
ประการ อาทิ หนี้สาธารณะ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ที่บ่งชี้ ไปในทิศทางดังกล่าว เป็นต้น

ฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้รวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายของทั้งสองประเทศ เพื่อประโยชน์
ในการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ในการประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของ สปป. ลาว โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 7 ประการ
ประกอบด้วย (1) ภาพรวม (2) อัตราเงินเฟ้อ (3) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (4) หนี้สาธารณะ (5) นโยบายด้านการเงิน และการคลัง
(6) แหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ และ (7) ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้ ผู้อ่านสามารถเห็นภาพและพิจารณา
ในเบื้องต้นถึงปัจจัยและความแตกต่างของบริบททางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) ภาพรวม สปป. ลาว เป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล (Land-locked Country) ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน มีประชากรประมาณ
7 ล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร GDP ของ สปป. ลาว ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 18,827 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ขยายตัวเพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 2.5) รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร รวมเป็นร้อยละ 88
ของ GDPขณะที่ศรีลังกา เป็นเกาะอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีประชากรประมาณ 21.92 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเช่นเดียวกัน
แต่รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศพึ่งพาภาคบริการ และการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปยังต่างประเทศ โดย GDP ในปี 2564
มีมูลค่าประมาณ 84,518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวเพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 1.8)

วิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกามีสาเหตุหลักจากการบริหารจัดการของรัฐบาลด้านการเงิน การปรับลดภาษีอย่างกะทันหัน รวมถึง
ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รายรับส่วนใหญ่ของศรีลังกาพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและเงินตราต่างประเทศอย่างมาก
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของประเทศลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับหนี้ต่างประเทศ
จำนวนมากที่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง ค่าเงินอ่อน จึงนำไปสู่การขาดแคลนน้ำมัน
เชื้อเพลิงและเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบกับปัญหาการเมืองและความเคลื่อนไหวของประชาชนภายในประเทศ จนนำ
ไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจตามที่ปรากฏรายงานข่าว

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างศรีลังกากับ สปป. ลาว คือ สปป. ลาว มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงและสถานการณ์ภายในประเทศสงบ
รัฐบาลดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางการเงินในประเทศผ่านการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ และร้านแลกเงิน
นอกระบบมีการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากธนาคารแห่ง สปป. ลาว (จำหน่ายแล้วร้อยละ 80) และกระทรวงการเงิน สปป. ลาว
สปป. มีแหล่งรายได้ใหม่และแผนในการดำเนินการชำระหนี้ต่างประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับ
ประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA)ระบุว่า สปป. ลาวยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ต่อไทย) นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีรายได้จากการส่งสินค้าออก
สามารถผลิตอาหารเพียงพอกับความต้องการในประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว
การจับจ่ายซื้อขายสินค้า ยังดำเนินต่อเนื่อง

(2) อัตราเงินเฟ้อ ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงของศรีลังกาและ สปป.ลาวมีสาเหตุคล้ายคลึงกัน คือเกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
(cost push) มิใช่เกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น (demand pull) ซึ่งภาวะต้นทุนการผลิตสูงขณะนี้เกิดขึ้นเกือบจะทั่วโลก (แต่อาจจะดำเนิน
นโยบายควบคุมที่ได้ผลต่างกัน) ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาว ยังสูง โดยเดือน ก.ค. 2565 ร้อยละ 25.6 (ไทยอยู่ที่ร้อยละ 7.61)
สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินกีบเทียบกับสกุลเงินตราต่างประเทศส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมัน
เชื้อเพลิงมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาในเดือน
ก.ค. 2565 สูงถึงร้อยละ 60.8 สาเหตุจากต้นทุนอาหารและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น (ในช่วงที่ปัญหาเศรษฐกิจในศรีลังกาเริ่มเข้าสู่
ช่วงวิกฤต อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 15)

(3) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในเดือน มี.ค. 2565 ลาวมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพียงพอ
สำหรับการนำเข้าประมาณ 2 เดือน แต่ สปป.ลาวสามารถผลิตอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก)
อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 สปป. ลาวได้ดุลการค้าระหว่างประเทศ 548.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีรายได้เพียง
ร้อยละ 32 ของมูลค่าการส่งออกที่กลับเข้าสู่ระบบธนาคารในประเทศ ในขณะที่กว่าร้อยละ 92 ของมูลค่าการนำเข้า ดำเนินการผ่าน
ระบบธนาคาร สะท้อนให้เห็นว่าในเชิงตัวเลข สปป.ลาวยังคงมีรายได้จากการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แต่เงินรายได้ไม่ได้ถูกนำกลับมา
เข้าระบบธนาคารในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ใน สปป. ลาว ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ในเดือน ก.ค. 2565 ศรีลังกามีทุนสำรองระหว่างประเทศ 1,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งศรีลังกามีประชากรมากกว่า สปป.ลาวถึง 3 เท่า)
แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ ศรีลังกากำลังเผชิญกับการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและยา รวมไปถึงน้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งมีสาเหตุมาจากเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง โดยข้อมูลตัวเลขการค้าจาก trading economics ระบุว่าในช่วงเดือน
ม.ค.-พ.ค. 2565 ศรีลังกาขาดดุลการค้าสูงถึง 3,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยล่าสุดธนาคาร
กลางศรีลังกาได้ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อนำทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ไปใช้ในการนำเข้าสินค้าจำเป็นแทน

(4) หนี้สาธารณะ รายงานของ World Bank ฉบับเดือน เม.ย. 2565 ระบุว่า ปี 2564 สปป. ลาวมีหนี้สาธารณะและหนี้ที่ค้ำประกันโดยภาครัฐ
(Public And Publicly Guaranteed: PPG) คิดเป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 88 ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้
ตปท. โดยร้อยละ 30 เป็นหนี้ในกิจการพลังงานไฟฟ้า (ELECTRICITE DU LAOS: EDL) โดยการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้
PPG เกิดจากค่าเงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายในการชำระหนี้ ปัจจุบัน สปป. ลาว
มีภาระการชำระหนี้ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในปี 2564 สปป. ลาว สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 1,941 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 สปป. ลาวสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำหนดเป้าหมาย ทั้งปี 2565
จะสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 2,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาระการชำระหนี้คิดเป็นร้อยละ 66 ของรายได้ทั้งหมด แม้ สปป.ลาว
จะมีหนี้สาธารณะสูงที่เกิดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการต่าง ๆ แต่หลายโครงการได้เริ่มสร้างผลตอบแทนและ
รายได้แล้ว เช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ รถไฟลาว-จีน เป็นต้น

ขณะที่ศรีลังกา ในปี 2564 สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2565 จะสามารถจัดเก็บ
รายได้ประมาณ 6,284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูง แต่รายได้ก็ลดลงอย่างมากเนื่องจากนโยบาย
ด้านการคลังที่ลดอัตราภาษีและการลดเพดานเงินได้ของผู้ที่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียภาษีลดลงร้อยละ 33.5
และ GDP ลดลงร้อยละ 2 ในเดือน มี.ค. 2565 รัฐบาลศรีลังกามีภาระหนี้กว่า 74,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 117.4
ของ GDP ประกอบด้วย หนี้ต่างประเทศกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์ หนี้ภายในประเทศและอื่น ๆ ประมาณ 23,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ จากผลกระทบภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักจากการการระบาดของโรคโควิด-19
โดยมีจีนเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา โดยช่วง 10 ปีมานี้ศรีลังกากู้เงินจากรัฐบาลจีน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมา
ใช้สร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบินและเส้นทางคมนาคม แต่หลายโครงการไม่ก่อให้เกิดรายได้และขาดทุน
อย่างหนัก เช่น ท่าเรือ ทั้งนี้ ศรีลังกาขอให้จีนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อคลายวิกฤตการเงินการคลังของประเทศหลังเศรษฐกิจ
ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

(5) นโยบายด้านการค้า การเงินและการคลัง รัฐบาล สปป. ลาว ได้กำหนดวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-การเงิน
ของ สปป. ลาว โดยกำหนด 5 มาตรการ อาทิ (1) ส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และเป็นสินค้าส่งออกเพื่อสร้างฐานรายรับ
ที่เข็มแข็ง (2) สร้างความเข้็มแข็งด้านการเก็บรายรับเข้างบประมาณ (3) ส่งเสริมการประหยัด ต้านการฟุ่มเฟือย และยกระดับ
การลงทุน-รายจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขหนี้สินภายในและต่างประเทศ (4) สร้างเสถียรภาพด้านการเงิน
(5) คุ้มครองรัฐด้วยกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการปรับปรุงนโยบายและกลไกลต่าง ๆ ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนี้
ภาครัฐของลาวได้ออกมาตรการลด ค่าครองชีพต่าง ๆ เพื่อเยียวยาประชาชนจากภาวะเงินเฟ้อ ได้แก่ มาตรการช่วยเสริม
สภาพคล่องผู้นำเข้าน้ำมัน พร้อมทั้งเริ่มเจรจานำเข้าน้ำมันกับประเทศรัสเซีย ซึ่งมีราคาถูกกว่าในตลาดโลก มาตรการ
ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 7 และ มาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 1.1 ล้านกีบต่อเดือน
เป็น 1.3 ล้านกีบต่อเดือน

เกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการคลังล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศนโยบายภาษีก้าวหน้าใหม่
(หลังจากที่เคยลดภาษีบางประเภทลง) โดยมีเป้าหมายเพื่อ (1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น และ (2) เพื่อสร้างเสถียรภาพทาง
สังคมให้ดีขึ้น โดยเน้นว่ามาตรการการเก็บภาษีใหม่นี้จะสอดคล้องกับแนวทางและเงื่อนไขของทาง IMF และไม่กระทบ
ต่อความเสี่ยงเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจ โดยรวมถึงการเจรจาประนอมหนี้กับ นักลงทุนต่างชาติผ่านการงดเว้นการเก็บภาษี
การลงทุน หรือ เก็บในอัตราที่ต่ำมาก เพื่อเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate tax) เพิ่มภาษีเงินได้เพื่อศรีลังกา
นอกจากนี้ยังเพิ่มนโยบายการเงินและการคลังของศรีลังกา โดยมี มติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Standing Deposit Facility Rate)
ที่ระดับร้อยละ 14.50 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Standing Lending Facility Rate) ที่ระดับร้อยละ 15.50 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ที่อยู่ในระดับสูง โดยธนาคารกลางต้องรอดูว่านโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมานั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ธนาคารกลางศรีลังกา ระบุว่ามาตรการที่ดำเนินการโดยธนาคารและรัฐบาลจนถึงปัจจุบันจะช่วย
ให้มีแรงกดดันด้านอุปสงค์โดยรวม ในขณะที่ราคาสินค้าทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาสินค้าในประเทศ

ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและการลดภาษี ส่งผลให้ศรีลังกาขาดดุลงบประมาณและต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่าง
ประเทศ (IMF) หลายครั้ง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและพันธกรณีของ IMF อาทิ การตัดลดงบประมาณ และการปรับการค้า
ให้เสรีมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ศรีลังกาได้ปฏิรูปการเกษตรอย่างสุดโต่ง (ระงับการใช้สารเคมี
ปรับเป็นนโยบายเกษตรออร์แกนิก) ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
เพิ่มมากขึ้น และรัฐต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง ขณะที่ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานอย่างรุนแรง รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของศรีลังกาคิดเป็นร้อยละ 12
ของ GDP ประชากร 403,000 คน ขาดรายได้ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจศรีลังกาอย่างมาก

(6) แหล่งรายได้ใหม่ สปป. ลาว มีแหล่งรายได้ใหม่ซึ่งเป็นโอกาสและสามารถใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ แร่ธาตุการขุดเหมือง คริปโต เป็นต้น จึงแตกต่างจากศรีลังกาที่แหล่งรายได้
สำคัญค่อนข้างจำกัดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการเป็นหลัก

แหล่งรายได้ใหม่ของ สปป. ลาว ประกอบด้วย (1) การขนส่งและโลจิสติกส์ ปัจจุบัน สปป. ลาวเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการคมนาคม
ทางบกที่สำคัญในภูมิภาค มีท่าบก 9 แห่งที่อยู่ในแผนการพัฒนาเพื่อต่อยอดจากนโยบาย Lao Logistics Link (LLL)
ที่จะส่งเสริมนโยบายส่งเสริมด้านความเชื่อมโยงของ สปป. ลาว ในภูมิภาค โดยมีท่าบกเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 3 แห่ง
ได้แก่ ท่าบกท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ท่าบกสะหวันนะเขต แขวงสะหวันนะเขต ท่าบกวังเต่า แขวงจำปาสัก ในช่วงเดือน
ม.ค.-พ.ค. 2565 ท่าบกสามารถสร้างรายได้ให้ สปป. ลาวสูงถึงประมาณ 2.06 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการ
รถไฟลาว-จีนในการขนส่งสินค้าและโดยสารนักท่องเที่ยวอีกด้วย โดยสินค้าหลักของ สปป.ลาว 4 ประเภทที่มีการขนส่งทาง
รถไฟลาว-จีนและสร้างรายได้ให้ สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา เหล็ก ทองแดง และมันสำปะหลัง (2) การดำเนินการ
ขุดค้นแร่ทดลอง ในปี 2564 มี 6 โครงการเสนอแผนการส่งออกแร่เหล็ก 1,850,000 ตัน โดยส่งออกไปจีนประมาณ 60,000 ตัน
และได้ชำระภาษีเหมาจ่าย สร้างรายได้ให้ สปป. ลาวแล้วกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิ.ย. 2565 ยังมีอีก
18 โครงการ ที่เสนอแผนจำหน่ายผลิตภัณฑ์แร่เหล็กประจำปี 2565 ทั้งหมด 9,974,000 ตัน โดยมีจำนวน 9 โครงการมีเป้าหมาย
ในการส่งออกผลิตภัณฑ์แร่เหล็กไปเวียดนามและจีน 515,000 ตัน (3) การพัฒนาการขุดค้นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
(4) รายได้จากการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ (5) รายได้จากภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศจากสถานการณ์
การระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ศรีลังกาซึ่งรายได้ของประเทศมาจากภาคบริการถึงร้อยละ 58 ของ GDP การเกิดระบาด
ของโรคโควิด-19 ส่งให้รายได้หลักจากส่วนดังกล่าวขาดหายไป ร่วมกับการประกาศลดภาษีของรัฐบาลก็ยิ่งทำให้ขาดรายได้
มากขึ้น อย่างก็ตาม ศรีลังกายังมีความสามารถในการหาแหล่งรายได้ แต่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอกด้วย อาทิ ราคาน้ำมัน
ในตลาดโลกลดลง สถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกดีขึ้นเพื่อหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว และสามารถสร้างรายรับ เข้าประเทศ
ได้ต่อไป

(7) ปัจจัยอื่น ๆ นอกจาก 6 ปัจจัยข้างต้นแล้ว สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง สปป.ลาวกับศรีลังกา คือ การเมืองภายใน
ประเทศ สปป.ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง “การเมืองนิ่ง” ช่วยให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ลื่นไหล
เป็นเอกภาพ ประชาชนอาจจะไม่พอใจความลำบากจากสถานการณ์ต่าง ๆ บ้าง แต่ก็มิได้เกิดความรุนแรง หรือการประท้วง
ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองไม่ให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ สปป.ลาว จะเห็นว่า นักลงทุน
ต่างชาติยังมีแผนการลงทุนในลาวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ของไทยด้วย และองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ
แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว เนื่องจากเห็นศักยภาพของลาว
ที่จะเติบโตต่อไป

 อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ช่วงเวลา (Timing) วิกฤตด้านเศรษฐกิจและการขาดแคลนน้ำมันของใน สปป. ลาวเกิดขึ้นในช่วงที่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งลาวเริ่มเปิดประเทศ และยกเลิกมาตรการจำกัด
การเข้า-ออกประเทศ จึงเป็นช่วงจังหวะของการกระตุ้นให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว เกิดการสร้างงาน ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์
การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศและเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจได้พอสมควร นอกจากนี้ จากภาวะที่ความแตกต่างของ
อัตราแลกเปลี่ยนในระบบธนาคารกับร้านแลกเปลี่ยนเงินตราลดลงจนใกล้เคียงกัน และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน
(ในระยะสั้น) ก็คลี่คลาย แสดงให้เห็นว่า นโยบายทางการเงินและนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลลาวเริ่มส่งผลทางบวก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยข้างต้นเป็นเพียงข้อแตกต่างในเบื้องต้น การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจยังมีปัจจัย
แวดล้อม การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก และรายละเอียดอื่น ๆ
ที่อยู่ในสมการ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ใน สปป.ลาวอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
(1) รายงานเศรษฐกิจ ของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ปี 2564
 http://www.bol.gov.la/fileupload/10-08-2022_1660113692.pdf
(2) รายงานหนี้สาธารณะ กระทรวงการเงิน สปป. ลาว 2564
https://www.mof.gov.la/wp-content/uploads/2022/06/2021-Public-and-Publicly
-Guaranteed-Debt-Bulletin-of-Lao-PDR-1.pdf
(3) คลังเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ สปป. ลาว
http://www.bol.gov.la/External_Sectors
(4) เงินเฟ้อเดือน ก.ค. 2565 ของ สปป. ลาว
https://www.bol.gov.la/inflation
(5) เงินเฟ้อของศรีลังกา
https://www.cbsl.gov.lk/measures-of-consumer-price-inflation
(6) นโยบายการเงินของศรีลังกา
https://www.cbsl.gov.lk/sites/default/files/cbslweb_documents/press/pr/press
_20220818_Monetary_Policy_Review_No_6_2022_e_H5du8.pdf
https://www.cbsl.gov.lk/en/economic-and-statistical-charts/gdp-growth-chart
(7) วิกฤตการณ์การเงินศรีลังกา https://www.bbc.com/news/world-61028138
https://www.hrw.org/news/2022/08/05/sri-lankas-economic-crisis-and-imf
https://www.hrw.org/news/2022/08/16/sri-lanka-economic-crisis-puts-rights-peril
https://www.weforum.org/agenda/2022/07/economic-politics-debt-protest-crisis-sri-lanka/
(8) รายงานการบริหารการคลังปี 2565 ของศรีลังกา
https://www.treasury.gov.lk/web/fiscal-strategy/section/budget%20documents%202022
https://www.treasury.gov.lk/api/file/0c3639d9-cb0a-4f9d-b4f9-5571c2d16a8b
(9) ข้อมูลตัวเลข GDP ของศรีลังกา https://data.worldbank.org/country/sri-lanka
https://tradingeconomics.com/sri-lanka/gdp-growth-annual
https://www.worldeconomics.com/Country-Size/sri%20lanka.aspx

09/02/2022



กลับหน้าหลัก