ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีฉบับแก้ไข

ทั่วไป

เมื่อกล่าวถึงกฎหมายภาษี ผู้อ่านหลายท่านคงนึกไปถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐจาก ประชาชนโดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ เช่น เงินได้ (เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล) หรือมูลค่า สินค้าและบริการ (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายรัษฎากรนั่นเองอย่างไรก็ดี ผู้อ่านอาจต้องเปลี่ยนความคิดและมุมมองใหม่เมื่อศึกษากฎหมายภาษีของ สปป.ลาว เนื่องจากกฎหมายภาษีของ สปป.ลาวมิได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐประเภทเดียวกันกับประเทศไทย หากแต่เป็นการกำหนด หลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินได้ของรัฐที่พิจารณาจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าจาก สปป.ลาว หรือที่เรียกว่า ภาษี ศุลกากร ตามกฎหมายไทยนั่นเอง

บทความนี้จะสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของกฎหมายภาษีใน สปป.ลาว ทั้งในแง่หลักการและวิธีการ รวมถึงประเด็นใหม่ๆ ทางกฎหมายที่น่าสนใจซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตัดสินใจจะเข้าไป ลงทุนใน สปป.ลาว เช่น การค้ำประกันเพื่อนำสินค้าออกจากด่านหรือคลังสินค้า เลขรหัสสินค้าและแหล่งกำเนิด สินค้า มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการแก้ไขข้อขัดแย้งเกี่ยวกับภาษี

ภาษี

กฎหมายว่าด้วยภาษี (ฉบับปรับปรุง) ปี 2011 (“กฎหมายภาษี”) ที่ได้มีการประกาศใช้โดยรัฐดำรัสของ ประธานประเทศเมื่อวันที่16 มกราคม 2012 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากกฎหมายว่าด้วยภาษีปี 2005 ฉบับเดิมเพื่อให้ กฎหมายภาษีสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจใน สปป.ลาวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าว กระโดด ตลอดจนการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของ สปป.ลาว

โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาล สปป.ลาวจะจัดเก็บภาษีจากบุคคลที่นำเข้าและ/หรือ ส่งออกสินค้าจาก สปป.ลาว ตามอัตราภาษีที่รัฐได้กำหนดไว้ในทะเบียนสารบัญอัตราภาษี เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดยกเว้น หรือลด หย่อนอัตราภาษีไว้เป็นการเฉพาะ โดยทะเบียนสารบัญอัตราภาษีดังกล่าวจะมีการกำหนดอัตราภาษีและเลขรหัส ของ สินค้าแต่ละชนิดไว้ตามมาตรฐานสากลซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะ

การแจ้งภาษี

กฎหมายของ สปป.ลาวกำหนดให้เจ้าของสินค้าหรือผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องแจ้งภาษี โดยบุคคลดังกล่าวอาจให้ ผู้บริการแจ้งภาษีดำเนินการแทนตนได้ โดยเมื่อสินค้ามาถึงด่านภาษี ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งภาษีต้องแจ้งการขนส่งสินค้า รวมทั้งพาหนะที่ใช้ในการขนส่งดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ภาษีภายใน 24ชั่วโมง หลังจากนั้นผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งภาษีต้อง ยื่นแบบชำระภาษีต่อเจ้าหน้าที่ภาษีภายใน 15 วันราชการนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ภาษีมีการบันทึกสินค้าตามเอกสาร การขนส่ง โดยสามารถยื่นตามแบบทั่วไปหรือทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยหากผู้มีหน้าที่แจ้งภาษีไม่ดำเนินการดัง กล่าว ภายในเวลาที่กำหนดจะถูกปรับตามระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษีที่ล่าช้าออกไปหรืออาจถูกริบสินค้าดัง กล่าวเป็น ของรัฐหากเลยกรอบระยะเวลาที่กฎหมายภาษีกำหนดอย่างไรก็ดีกฎหมายภาษีเปิดช่องให้ผู้แจ้งภาษีขอยื่น แบบชำระภาษีล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงด่านภาษีได้ โดยผู้แจ้งภาษีสามารถยื่นแบบชำระภาษีได้ภายในกำหนด 7 วันราชการ พร้อมเอกสารประกอบการแจ้งให้ครบถ้วน เมื่อเจ้าหน้าที่ภาษีได้รับรองการยื่นแบบแล้ว ผู้แจ้งภาษีต้อง ชำระค่าภาษี เป็นเงินกีบภายในเวลาที่กำหนด

ภายหลังจากมีการยื่นแบบชำระภาษีและรับรองการชำระภาษีโดยเจ้าหน้าที่ภาษีแล้ว เจ้าหน้าที่ภาษีจะ ดำเนินการตรวจสอบสินค้าต่อหน้าผู้แจ้งภาษี ณ ด่านภาษีหรือคลังเก็บสินค้าหรือสถานที่อื่นที่เจ้าหน้าที่ภาษีกำหนด โดย เจ้าหน้าที่ภาษีจะบันทึกการตรวจสอบว่าสินค้าตรงตามข้อมูลที่ระบุในใบยื่นชำระภาษีหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ ภาษีเห็นว่าสินค้าไม่ตรงกับข้อมูลที่แจ้งไว้เจ้าหน้าที่ภาษีจะบันทึกข้อมูลไว้เพื่อประกอบการดำเนินคดีต่อผู้แจ้ง ภาษี

การค้ำประกัน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น อาจเกิดเหตุการณ์ที่นักลงทุนมีความจำเป็นที่จะต้องนำสินค้าออกจากด่านหรือคลัง สินค้าก่อนที่จะมีการยื่นแบบชำระภาษี กฎหมายภาษีจึงเปิดช่องให้นักลงทุนสามารถนำสินค้าออกจากด่านหรือคลัง สินค้าก่อนการแจ้งภาษีได้ โดยผู้แจ้งภาษีต้องยื่นคำร้องเพื่อค้ำประกันการนำสินค้าออกจากด่านหรือคลังสินค้าต่อ เจ้าหน้าที่ภาษีและวางเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือบุคคลที่มีฐานะทางการ เงินที่น่าเชื่อถือได้ที่มีมูลค่าเท่ากับค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆและบวกเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เมื่อมีการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าแล้ว ผู้แจ้งภาษีต้องยื่นแบบชำระภาษีภายใน 15 วันราชการจึงจะได้รับ เงินหรือหนังสือค้ำประกันนั้นคืน

เลขรหัสและแหล่งกำเนิดสินค้า

สินค้าที่มีการนำเข้า และ/หรือ ส่งออกจาก สปป.ลาวนั้นต้องมีการระบุรหัสสินค้าและแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อกำหนดอัตราภาษี ประเทศต้นกำเนิดของสินค้า และสิทธิในการลดหย่อนอัตราภาษีในกรณีที่สินค้ามีแหล่ง กำเนิดจากประเทศที่รัฐบาล สปป.ลาวมีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงอยู่ ดังนั้น หากผู้แจ้งภาษีไม่แน่ใจเกี่ยวกับการ กำหนดเลขรหัสและแหล่งกำเนิดสินค้า กฎหมายภาษีได้กำหนดมาตรการให้ผู้แจ้งภาษีสามารถขอคำแนะนำและ รับรองเลขรหัสและแหล่งกำเนิดสินค้าล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่ภาษีได้

มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ภายใต้กฎหมายภาษีที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ฉบับนี้ รัฐบาล สปป.ลาวได้มีการเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไว้อย่างชัดเจน โดยหากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามีข้อมูลว่าสินค้าที่มีการนำเข้า และ/หรือ ส่งออกจาก สปป.ลาว หรือขนส่งผ่าน สปป.ลาว ละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธิ์ของตน เจ้าของ สิทธินั้นสามารถยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ภาษีเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบและยึดทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ได้

การแก้ไขข้อขัดแย้ง

เมื่อผู้แจ้งภาษีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับมูลค่าการแจ้งภาษี รหัสสินค้าและแหล่งกำเนิด สินค้า ผู้แจ้งภาษีสามารถยื่นคำเสนอขอคืนภาษีพร้อมด้วยหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการแก้ไขคำเสนอ โดยสามารถยื่นคำเสนอภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่มีคำตัดสินของเจ้าหน้าที่ภาษี ในเบื้องต้นคณะกรรมการ แก้ไขคำเสนอประจำเขตจะเป็นผู้พิจารณาคำเสนอและแจ้งคำตัดสินแก่ผู้เสนอภายใน 30 วันราชการ หากผู้แจ้งภาษี ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมการแก้ไขคำเสนอประจำเขต ผู้แจ้งภาษีสามารถยื่นอุธรณ์ต่อคณะกรรมการ แก้ไขคำเสนอขั้นศูนย์กลางภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับคำตัดสินของคณะกรรมการแก้ไขคำเสนอประจำเขต เมื่อคณะกรรมการแก้ไขคำเสนอขั้นศูนย์กลางมีคำตัดสินและผู้แจ้งภาษีไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว ผู้แจ้งภาษีมี สิทธิดำเนินคดีทางศาลโดยยื่นฟ้องต่อศาลประชาชนภายใน 30 วันนับแต่ได้รับคำตัดสินของคณะกรรมการแก้ไขคำ เสนอขั้นศูนย์กลาง

เมื่อพิจารณากฎหมายภาษีของ สปป.ลาวจะเห็นได้ว่ากฎหมายภาษีของ สปป.ลาวมีการเปลี่ยนแปลงและ ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในระดับนานาชาติ โดยมีหลักการใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น เลขรหัสสินค้า และแหล่งกำเนิดสินค้า รวมถึงมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถูกบรรจุไว้ในกฎหมายภาษีฉบับใหม่ เพื่อ แสดงให้เห็นว่า สปป.ลาวเป็นประเทศที่มีศักยภาพพร้อมรับต่อการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมโลกและประชาคม เศรษฐกิจอาเชียน จนอาจกล่าวได้ว่า สปป.ลาวเป็นประเทศที่น่าจับตาในแง่ของการลงทุนไม่แพ้ประเทศใดใน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน



กลับหน้าหลัก