กฎระเบียบที่ควรรู้

สปป. ลาว ยังพบความท้าทายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ได้เข้าร่วม การประชุม
สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ของกระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคมและการสื่อสาร ณ ศูนย์การร่วมมือสากลและ
ฝืกอบรม ลาว – ญี่ปุ่น นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นายสมดีฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ
ความพร้อมของประเทศในการรับมือและเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล สิ่งสำคัญประการแรก
ในการนำ สปป. ลาวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ การทำให้คนลาวทั้งในตัวเมือง
และชนบทมีความรู้และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนและในราคาที่เหมาะสม โดยสัญญาณต้องครอบคลุมพื้นที่
ร้อยละ 95 ของประเทศ

ธนาคารโลกประเมินไว้ว่า ประเทศที่ใช้ระบบดิจิทัลสื่อสารความเร็วสูงเพิ่มขื้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้เศรษฐกิจ ของประเทศนั้น
ขยายตัวร้อยละ 1.38 อัตราว่างงานลดลงร้อยละ 1.2 และจะมีแรงงานด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 3 เนื่องจากสามารถ
เรียนรู้ระบบดิจิทัลที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ทั้งในระบบการผลิตโรงงานอุตสาหกรรม สาธารณสุข การศึกษา การค้า และการบริหาร
ภาครัฐ ระบบดิจิทัลทำให้จีนก้าวหน้าขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ด้วยการดำเนินนโยบายอินเทอร์เน็ตบวก
(Inter+) และ Mobile in China 2025

ปัจจุบัน สปป. ลาวยังไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาด้านดิจิทัลใน สปป. ลาวอย่างละเอียดอย่างเช่น การประเมินของธนาคารโลก
ข้างต้น นายสมดีฯ จึงมอบหมายให้กระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นคว้าและจัดทำแผนการคุ้มครองและพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ความทันสมัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใน สปป. ลาว
รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพัฒนากฎระเบียบเพื่อคุ้มครองการดำเนินธุรกิจดิจิทัลใน สปป. ลาว ค้นคว้าและพัฒนา
ระบบบริหารของรัฐเพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการดิจิทัลให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมผู้ประกอบภายในประเทศให้ผลิตสินค้าที่ Made in Laos ไม่ว่าจะเป็น hardware หรือ software พร้อมทั้งสนับสนุน
ผู้ประกอบการรายย่อยในชนบท ยกระดับการศืกษาด้านดิจิทัล พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศในด้านดิจิทัล
สนับสนุนการบริการและสร้างความต้องการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ของสังคม อาทิ เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะการให้บริหาร
ของภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรม ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. ลาวพัฒนา วันที่ 13 ก.พ. 2563
https://www.laophattananews.com/archives/64662

02/21/2020



กลับหน้าหลัก