กฎระเบียบที่ควรรู้

อุตสาหกรรมแปรรูปใน สปป. ลาวมีแนวโน้มขยายตัวลดลง

ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปใน สปป. ลาวต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปใน 
สปป. ลาวส่วนใหญ่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยในช่วงปี 2558 – 2560 อุตสาหกรรมแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 
แต่ในปี 2561 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวลดลง แต่ในภาพรวมยังช่วยให้เศรษฐกิจ สปป. ลาวขยายตัว 

นางทานตาวัน มะโนลม หัวหน้าแผนกค้นคว้านโยบายอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม
และการค้า สปป. ลาว กล่าวในที่ประชุมวิชาการของกระทรวงฯ ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปของ สปป. ลาวขยายตัว
อย่างผันผวน โดยในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 7.01 ปี 2559 ขยายตัว ร้อยละ 12 และปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 11.61 แต่ปี 2561 มีแนวโน้ม
ขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 7.81 และคาดว่าในปี 2562 – 2563 จะขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 6.30 และ 6.70 ตามลำดับ เนื่องจากในปี 2563 
สปป. ลาวเริ่มใช้นโยบายจำกัด การส่งออกสินค้าประเภททรัพยากรธรรมชาติ และยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากพิจารณา
โครงสร้างเศรษฐกิจ สปป. ลาวพบว่า ในช่วงปี 2558 – 2560 ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คือ ร้อยละ 28.8 27.7 28.8 และ 30.9 
ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2562 – 2563 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5  

ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและเศรษฐกิจของ สปป. ลาวขยายตัวเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนา
อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีความยั่งยืน โดยกำหนดรูปแบบอุตสาหกรรมแปรรูปในแต่ละท้องถิ่นให้ชัดเจน ส่งเสริมการผลิตสินค้าแบบโรงงาน
และชุมชน สร้างกลไกควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปและหัตถกรรม ให้มีความสะดวก พร้อมทั้งผลักดันให้กลายเป็นห่วงโซ่การผลิต 
และสร้างความเชื่อมโยงตลาดเสรีในและนอกภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือและสามารถแข่งขันกับนานาชาติ 

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 13 มี.ค. 2563 
 https://laoedaily.com.la/2020/03/13/74122/

03/20/2020



กลับหน้าหลัก