กฎระเบียบที่ควรรู้

ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ต่อโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์ – โนนทอง

การระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรม
และการค้าเวียงจันทน์ – โนนทอง (VITA) สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและ
การค้า สปป. ลาวสำรวจผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมฯ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม/สัมภาษณ์
จำนวน 24 บริษัท ผลการสำรวจมีดังนี้

1. โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 10 ได้รับผลกระทบรุนแรงคิดเป็นร้อยละ 50
ได้รับผลกระทบปานกลางคิดเป็นร้อยละ 30 และได้รับผลกระทบบางส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม/สัมภาษณ์
2. ด้านความเสี่ยงต่อการหยุดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือนคิดเป็นร้อยละ 70 หยุดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน
คิดเป็นร้อยละ 10 และหยุดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือนคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ตอบแบบสอบถาม/สัมภาษณ์ ทั้งนี้
ไม่มีโรงงานใดที่จะหยุดดำเนินกิจการเป็นการถาวร
3. ด้านความเสี่ยงทั่วไปของโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า การสั่งซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 40 ไม่สามารถผลิตสินค้า
ได้ตามสัญญาร้อยละ 40 ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานร้อยละ 10 ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 5
และความเสี่ยงอื่น ๆ ร้อยละ 5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม/สัมภาษณ์
4. ด้านรายได้ของโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563
ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 33.5 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 47.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

ผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฯ เรียกร้องให้รัฐบาล สปป. ลาวบรรเทาผลกระทบโดย (1) ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยแรงงานและ
สวัสดิการสังคมในช่วงการปิดโรงงานชั่วคราว และลดภาษีรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการหลังระยะผ่อนผัน และขยายเวลาการยกเลิก
ภาษีที่เป็นนโยบายเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมออกไป (2) เสนอให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่าย ด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า ค่าบำบัดน้ำเสีย
และค่าธรรมเนียมรักษาสิ่งแวดล้อม) ค่าใช้จ่ายด้านเอกสารและในขั้นตอน การส่งออก พร้อมทั้งมีนโยบายควบคุมราคาวัตถุดิบนำเข้า
ที่จำเป็นต่อการผลิต และ (3) ขอให้เพิ่มแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ

นิคมอุตสาหกรรมฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2552 มีอายุสัมปทาน 75 ปี ตั้งอยู่เมืองไซทานี ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ 22 กิโลเมตร เป็นการลงทุน
ร่วมกันระหว่างรัฐบาล สปป. ลาวกับภาคเอกชนไต้หวัน เพื่อพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมผลิต สิ่งทอ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกลจักร รวมทั้งศูนย์การค้า อาคารเพื่อบริการด้านการค้า โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งหมด
66 บริษัท และมีบริษัทที่ดำเนินการผลิตเพื่อส่งออก 28 บริษัท ซึ่งสามารถสร้างงานให้ 3,052 คน

ที่มา: นสพ. ลาวพัฒนา วันที่ 22 มิ.ย. 2563

07/10/2020



กลับหน้าหลัก