กฎระเบียบที่ควรรู้

ธนาคารแห่ง สปป. ลาวระงับการชำระหนี้สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2564 นายพุดทะไซ สีวิไล รองผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว และหัวหน้าหน่วยงานนโยบายการเงิน ได้ชี้แจง
เกี่ยวกับนโยบายของธนาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 โดยจะสานต่อนโยบายการเงิน ดังนี้

1. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของธนาคาร แห่ง สปป. ลาว และอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirements)
ของธนาคารพาณิชย์

2. สานต่อนโยบายสินเชื่อเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ตามข้อตกลงเลขที่ 238/ทหล. ลงวันที่ 26 มี.ค. 2563
และโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการผลิตและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ข้อตกลงเลขที่ 318/ทหล. ลงวันที่
19 พ.ค. 2563 โดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล ของธนาคารแห่ง สปป. ลาวจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือ
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี ดังนี้
    (1) เลื่อนเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
    (2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
    (3) อนุมัติวงเงินกู้ใหม่แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การเกษตรเพื่อการส่งออก การผลิตทดแทนการนำเข้า และ SMEs
เพื่อฟื้นฟูการผลิตและเสริมสภาพคล่อง
     (4) จัดชั้นหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยกำหนดอายุสัญญาหรืองวดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยและ อัตราดอกเบี้ยใหม่ให้สอดคล้อง
กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยให้มีระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี หรือตามการตกลงระหว่าง
เจ้าหนี้กับลูกหนี้

นอกจากนี้ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว สนับสนุนแหล่งเงินทุนในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการผลิตและ ลดผลกระทบจากโรคโควิด 19
โดยออกนโยบายสินเชื่อให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้

     (1) กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี
     (2) กำหนดระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 6 ปี
     (3) สำหรับการชำระเงินต้นให้ระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้น 3 ปี (เริ่มปีที่ 1 ถึงปีที่ 3) และเริ่มชำระเงินต้นปลายปีที่ 4 5 และ 6 ในอัตราร้อยละ
30 30 และ 40 ตามลำดับของยอดเงินกู้รวม และการชำระดอกเบี้ย ปีละ 2 ครั้ง (ปลายเดือน มิ.ย. และปลายเดือน ธ.ค. ของปี)
ทั้งนี้ วงเงินกู้รวมที่แต่ละธนาคารพาณิชย์จะได้รับ ขึ้นกับการพิจารณาบนพื้นฐานแผนการสนองสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เสนอมา
โดยต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด

3. ส่งเสริมและติดตามการสนับสนุนแหล่งทุนของกองทุนส่งเสริม SMEs ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า สปป. ลาว ให้ SMEs
ที่ได้รับผลกระทบ

ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงเดือน มี.ค. 2564 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ผ่อนผันด้านสินเชื่อให้แก่ลูกค้าทั้งหมด 4,846 ราย มูลค่า 9,565.24 พันล้านกีบ
สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ได้ 454,163 ราย มูลค่า 263.63 พันล้านกีบ นโยบายส่วนใหญ่ คือ
นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย เลื่อนชำระหนี้ ทั้งต้นทุนและดอกเบี้ย การปล่อยกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการผลิตหรือธุรกิจ และการปรับลดค่าธรรมเนียม

ด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการผลิตและ ลดผลกระทบจากโรคโควิด 19
ตามข้อตกลงเลขที่ 318/ทหล. ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ปล่อยเงินกู้ ให้ลูกค้าแล้ว 477 ราย มูลค่า 1,652.57 พันล้านกีบ
กองทุนส่งเสริม SMEs ได้ปล่อยสินเชื่อให้ SMEs แล้ว 116 แห่ง 143 มูลค่า 165.06 พันล้านกีบ

โครงการสินเชื่อเพื่อปล่อยเงินกู้ใหม่ให้บุคคล SMEs และ MSMEs ที่ได้รับผลกระทบจะดำเนินการผ่าน 16 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคาร
การค้าต่างประเทศลาว ธนาคารร่วมธุรกิจลาว - เวียดนาม ธนาคารลาว - จีน ธนาคารร่วมพัฒนา ธนาคารมารุฮัน เจเเปนลาว ธนาคารบีไอซีลาว
ธนาคาร เอสที ธนาคารพัฒนาลาว ธนาคารอาร์เอชบีลาว ธนาคารไซง่อน เทืองติง ธนาคารเวียดตินลาว ธนาคารแคนนาเดียลาว ธนาคารการค้า
ต่างประเทศลาวเวียดนามประจำ สปป. ลาว ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคาร
ส่งเสริมกสิกรรม นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการให้สินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของ สปป. ลาว โดยออกนโยบายสินเชื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า
เพื่อการส่งออก การผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าและการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก

นอกจากนี้ นายสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ออกข้อตกลงเพิ่มเติมเลขที่ 256/ทหล. ลงวันที่ 13 พ.ค. 2564 ว่าด้วย
การดำเนินนโยบายสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ให้แก่ลูกค้าเงินกู้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน
โดยให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่รับฝากและไม่รับฝากเงิน เลื่อนเวลาชำระเงิน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าเงินกู้เป็น
เวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. - ก.ค. 2564 และให้บริษัทสินเชื่อ และโรงรับจำนำเลื่อนกำหนดเวลาจ่ายค่างวดในการเช่าชื้อหรือกำหนดเวลา
ไถ่ถอนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. - ก.ค. 2564

ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวต้องเป็น (1) บุคคล/นิติบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือดำเนินธุรกิจที่ต้องยุติ
กิจการทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง เนื่องจากมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาด ของโรคโควิด 19 หรือ (2) ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ
ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพของตนได้ตามปกติ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 9,403 กีบ
ที่มา: นสพ. ประชาชน วันที่ 10 พ.ค. 2564

05/21/2021



กลับหน้าหลัก