กฎระเบียบที่ควรรู้

การประชุมสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาและคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษใน สปป. ลาว

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและ การลงทุน สปป. ลาว
เป็นประธานการประชุมสรุปบทเรียน ปัญหาคงค้างและแนวทางการแก้ไขในอนาคตเกี่ยวกับ การพัฒนาและคุ้มครอง
เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในช่วงปี 2559 - 2563 และแผนงานปี 2564 - 2568 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี
นางคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์
และรองเจ้าแขวงที่มี SEZ ตั้งอยู่ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าร่วม

ดร. สอนไซฯ กล่าวว่า การพัฒนา SEZ ใน สปป. ลาวแตกต่างกับการพัฒนา SEZ ในประเทศอื่น ๆ เนื่องจาก สปป. ลาว
ไม่มีชายแดนติดกับทะเล อีกทั้งงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็มีจำกัด รัฐบาล สปป. ลาวจึงมีนโยบาย
ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนภายในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการบริหารจัดการและการคุ้มครองเฉพาะ ปัจจุบัน
สปป. ลาวมี SEZ ตั้งอยู่ใน 7 แขวง รวม 12 แห่ง ได้แก่ สะหวัน - เซโน บ่อเต็นแดนงาม สามเหลี่ยมคำ เวียงจันทน์ - โนนทอง
ไซเสดถา ดงโพสี พูเขียว บึงทาดหลวง ลองแท่ง - เวียงจันทน์ ท่าแขก จำปาสัก และหลวงพระบาง รวม 19 สัญญาพัฒนา
โครงการ บนพื้นที่กว่า 15,000 เฮกตาร์ ซึ่งแต่ละ SEZ มีความคืบหน้า หลายด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใน
SEZ การสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ชนบท การสร้างเขตอุตสาหกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การยกระดับฝีมือแรงงาน
การสร้างงาน การสร้างระบบบริการโลจิสติกส์ครบวงจรในการขนส่งสินค้า และการสร้างฐานรายรับใหม่ นอกจากนี้ 
ยังส่งผลให้ธุรกิจ SMEs และประชาชนที่อยู่โดยรอบ SEZ ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะธุรกิจ
การบริการและอื่น ๆ สำหรับ SEZ ใน สปป. ลาวที่มีการพัฒนาโดดเด่น ได้แก่ สะหวัน - เซโน (โซนซี C) ไซเสดถา
เวียงจันทน์ -โนนทอง บ่อเต็นแดนงาม สามเหลี่ยมคำ บึงทาดหลวง และจำปาสัก (โซนปากเซ - ญี่ปุ่น) นอกจากนี้
ปัจจุบัน สปป. ลาวยังมีท่าบก 3 แห่ง ได้แก่ สะหวัน - เซโน เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค และวังเต่า - โพนทอง
และศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้า (ICD) 2 แห่ง ได้แก่ บ่อเต็นแดนงาม และท่าแขก

นายสอนปะเสิด ดาลาวง รักษาการหัวหน้าห้องการส่งเสริมและคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
 (2559 - 2564) มีบริษัทจดทะเบียนใน SEZ ทั้งหมด 788 บริษัท มูลค่าทุนจดทะเบียนกว่า 15.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประกอบด้วยบริษัทภายในประเทศ 84 แห่ง บริษัทต่างประเทศ 676 แห่ง และบริษัทร่วมทุนภายในและต่างประเทศ 28 แห่ง
มีการชำระภาษีต่าง ๆ กว่า 413.9 ล้านล้านกีบ สร้างงาน 52,319 ตำแหน่ง มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าทั้งหมด 4.7 ล้าน
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการส่งออก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพ
จากต่างประเทศเข้ามาลงทุน เช่น บริษัท Nikon (ผลิตกล้องถ่ายภาพ) บริษัท Hoya (ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) 
บริษัท Aeroworks (ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน) โดยในปี 2564 มีบริษัทเข้ามาลงทุนทั้งหมด 45 แห่ง มีการชำระภาษีและอื่น ๆ
รวม 47 ล้านล้านกีบ มีมูลค่าการนำเข้ากว่า 349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สินค้าส่วนใหญ่ คือ เครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง)
และมูลค่าการส่งออกกว่า 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้แรงงานต่างประเทศ
และแรงงานลาวที่ทำงานในเขตการค้าและบริการของ SEZ สามเหลี่ยมคำ และ SEZ บ่อเต็นแดนงามได้เดินทางกลับประเทศ
ส่วนแรงงานลาวที่ทำงานในเขตอุตสาหกรรมของเขต SEZ สะหวัน – เซโน ไซเสดถา และ SEZ จำปาสัก (โซนปากเซ - ญี่ปุ่น)
ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

ปัญหาคงค้างของการพัฒนาและคุ้มครอง SEZ ในช่วงที่ผ่านมา มีดังนี้

1. การดำเนินการตามสัญญาสัมปทานในบาง SEZ ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากขาดแหล่งทุน การทำการตลาด
และข้อจำกัดในการหาคู่ร่วมธุรกิจ
2. การจัดเก็บรายได้ยังไม่ครบถ้วน เช่น รายได้จากการถือหุ้นของรัฐ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้าง ภาษีเงินได้
จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดประสิทธิภาพ
3. จำนวนแรงงานลาวที่เข้าทำงานใน SEZ ยังมีน้อย โดยเฉพาะ SEZ สามเหลี่ยมคำ และบ่อเต็นแดนงาม ในช่วงที่ผ่านมา
2 เขตดังกล่าวได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโดยใช้แรงงานจีนและเมียนมาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนลาวจำนวนหนึ่ง
ทำธุรกิจอยู่รอบ SEZ เท่านั้น
4. กลไก one stop service ของ SEZ แต่ละแห่งยังขาดความคล่องตัวและขาดการบูรณาการด้านกฎระเบียบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตต่าง ๆ
5. การแก้ไขปัญหาที่ดินในบางพื้นที่ยังไม่สามารถทำได้ เช่น บางพื้นที่ใน SEZ สะหวัน - เซโน พูเขียว ล่องแท่ง - เวียงจันทน์ และท่าแขก
6. การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค ยังมีน้อย
และขาดการประสานงานระหว่าง SEZ ต่าง ๆ กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 7. การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานใน SEZ บางแห่ง
ยังไม่แล้วเสร็จ เช่น การยุบรวมสภาบริหาร SEZ พูเขียวเข้ากับคณะคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงคำม่วน เนื่องจากการพัฒนาเขต
ดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา SEZ กอปรกับปัญหาสงครามการค้า
ระหว่างประเทศมหาอำนาจได้ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น สปป. ลาวจะต้องแก้ไขปัญหา และอุปสรรค
ข้างต้นเพื่อเร่งให้การพัฒนา SEZ สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 11,053 กีบ
 
ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 8 ธ.ค. 2564
https://laoedaily.com.la/2021/12/08/109165/
และเว็บไซต์ นสพ. ประชาชน วันที่ 8 ธ.ค. 2564
http://pasaxon.org.la/pasaxon-detail.php?p_id=75651&act=economic-detail

12/17/2021



กลับหน้าหลัก