กฎระเบียบที่ควรรู้

ภาคเอกชนเสนอปัญหาในที่ประชุมระหว่างคณะรัฐบาล สปป. ลาวและภาคเอกชนลาว

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เป็นประธานการประชุมระหว่าง คณะรัฐบาล สปป. ลาว
และภาคเอกชนลาว ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้แทนจากภาคเอกชนลาวเข้าร่วม

ผลการดำเนินงานของภาคการลงทุน และการดำเนินกิจการของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีปัญหาคงค้างหลายด้าน
โดยเฉพาะการออกกฎหมายและนิติกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นโยบายส่งเสริมการผลิต
ภายในประเทศยังไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในทางปฏิบัติ การแบ่งความรับผิดชอบ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการแก้ปัญหายังขาดความชัดเจน รวมทั้งปัญหาการเข้าถึงฐานข้อมูลด้านเทคนิคต่าง ๆ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อม
ในการดำเนินธุรกิจให้เอื้อต่อภาคเอกชน โดยในที่ประชุมฯ ได้มีผู้แทนภาคเอกชนลาวเสนอปัญหาต่อรัฐบาล ดังนี้

1. นางสาววาลี เวดสะพง รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ประธานบริษัท การยามิตรภาพ จำกัด
และผู้อำนวยการเวดสะพงคลินิก เสนอว่า (1) ขอให้ภาครัฐจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ที่ควรแก้ไขและมีหน่วยงานรับผิดชอบ
เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการออกนิติกรรมต่าง ๆ ของส่วนกลาง หรือกระทรวง ที่รับผิดชอบเมื่อแล้วเสร็จ (2) ควรสร้างขีดความสามารถ
เกี่ยวกับนิติกรรมดังกล่าวให้พนักงานส่วนท้องถิ่น (3) การอนุญาตการลงทุนของภาคเอกชนควรลดขั้นตอนและเอกสารที่ไม่จำเป็น
เพื่อให้ง่ายต่อการอำนวย ความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถปฏิบัติได้ แล้วจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุ้มครองการดำเนินธุรกิจ
(4) เสนอให้ลดกิจการในบัญชีกิจการที่มีการควบคุมลงเนื่องจากเห็นว่ามีหลายกิจการ

2. นางสุไพวัน เที่ยงจันไซ รองผู้อำนวยการบริษัท บัวละพา กสิกรรม - ป่าไม้ จำกัด เสนอขอให้ภาครัฐดึงดูดนักลงทุนเข้ามาปลูกไม้
เศรษฐกิจในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนปลูกไม้ดังกล่าวต้องใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง รวมทั้งขั้นตอน
การขอเอกสารสัมปทานยังมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน ตลอดจน นิติกรรมและดำรัสหลายฉบับเกี่ยวกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ
เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ไม้ปลูกยังมีความยุ่งยาก เพราะนิติกรรมของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ไม่สอดคล้องกันส่งผล
ให้ใช้เวลานานในการดำเนินการ จึงขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับการเช่าที่ดินของรัฐสำหรับทำลานเก็บไม้
และสร้างโรงงานแปรรูป ยังมีราคาสูง อีกทั้งยังเป็นนิติกรรมเดียวกันกับไม้ธรรมชาติ สำหรับการรับรองสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม
การปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันใช้กฎหมายเดียวกับการลงทุนขุดค้นแร่ทอง แร่ธาตุ และเขื่อนไฟฟ้า ทำให้นักธุรกิจเกิดความสับสน
เนื่องจากกิจการทั้งสองส่วนอยู่คนละประเภทกิจการ

3. นายบุนเลิด หลวงปะเสิด รองประธานสภาการค้าฯ หัวหน้าคณะพัฒนาธุรกิจกสิกรรมประจำสภาการค้าฯ เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลตลาด
และมาตรฐานทางเทคนิคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความยุ่งยาก ทำให้ภาคเอกชนบางส่วนไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน
สินค้าของประเทศปลายทางและขั้นตอนในการขนส่ง จึงขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติม หรืออาจพิจารณา
ให้สภาการค้าฯ ช่วยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร โดยที่ผ่านมาพบว่า
การดำเนินการดังกล่าว มีหลายขั้นตอน ซึ่งหากปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงข้อมูลตลาดและมาตรฐานทางเทคนิคได้ก็จะช่วยลดต้นทุน
และระยะเวลาให้กับเกษตรกรได้

4. นายพึดสะพา พูมมะสัก ประธานบริษัท บริษัท Asia Investment Development And Construction จำกัดผู้เดียว (AIDC) เสนอให้รัฐบาล
ทบทวนการคุ้มครองธุรกิจที่ผลิตสินค้าเกษตร โดยที่ตนมีลานรับซื้อมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคใต้ของลาว แต่การขออนุญาตก่อสร้างลานตาก
และเก็บมันสำปะหลังในเขตพื้นที่การผลิตมีความยุ่งยาก ทำให้ประชาชนต้องขนมันสำปะหลังจากไร่มาขายที่ลานรับซื้อ ซึ่งมีระยะทางไกล
และใช้เวลานาน และขอให้รัฐบาล เร่งตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรตามด่านชายแดนต่าง ๆ เพิ่มเติม
เพื่ออำนวยความสะดวกภาคเอกชน

ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 17 ธ.ค. 2564
https://laoedaily.com.la/2021/12/17/109583/

12/24/2021



กลับหน้าหลัก