กฎระเบียบที่ควรรู้

เป้าหมายการพัฒนาภาคพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาว

การพัฒนาภาคพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาว นับเป็นภารกิจที่มีความสำคัญลำดับต้น และตั้งอยู่ บนพื้นฐานที่สอดคล้อง
กับแนวโน้มการพัฒนาของภูมิภาคและสากล และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างฐานรายรับ ให้กับประเทศ โดยเน้นการเติบโต
อย่างมีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว

แผนพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ ฉบับที่ 9 ปี 2564-2568 ของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว ได้กำหนดเป้าหมาย
การพัฒนา 12 ประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาการจัดหา/ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพและมั่นคงสอดคล้องกับ
ความต้องการใช้ภายในประเทศและการส่งออก (2) การพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ
และการส่งออก (3) การพัฒนาระบบจำหน่ายและการบริการไฟฟ้า (4) การขยายโครงข่ายไฟฟ้า สู่ชนบทในหลายรูปแบบ
(5) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการคมนาคมและขนส่ง (6) การส่งเสริมการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน
(7) การสำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านธรณีศาสตร์และแร่ธาตุ และการประเมินทรัพยากร แร่ธาตุทั่วประเทศ
(8) การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการ คุ้มครอง และการพัฒนาแร่ธาตุให้เกิดประโยชน์สูงสุด (9) การพัฒนากลไกการบริหาร
จัดการ คุ้มครอง และการบังคับใช้กฎหมาย (10) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองและพัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุ
(11) การสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานฯ และ (12) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนา
อย่างยั่งยืนและการเติบโตสีเขียวในการปฏิบัติตามแผนพัฒนาของหน่วยงานด้านการลงทุนของภาคเอกชนทั้งภายในประเทศ
และต่างประเทศ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน การพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาคพลังงาน
และเหมืองแร่ อาทิ แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดนโยบายการส่งออกแร่ดิบ
และกึ่งสำเร็จรูป โดยการส่งเสริม ให้มีการก่อตั้งโรงงานแปรรูปแร่ธาตุสำหรับแร่พื้นฐาน อาทิ เหล็ก ทองแดง ยิปซั่ม และซิลิคอน
พร้อมทั้งการกระตุ้น ให้มีการก่อตั้งโรงงานที่ต้องใช้ไฟจำนวนมากในแขวงทางภาคเหนือ ซึ่งมีแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก
ซึ่งจะทำให้ราคาไฟฟ้าต่ำกว่าราคาปกติ ซึ่งแหล่งทุนส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชน และรัฐบาลจะให้การสนับสนุนด้านนโยบาย
และกำหนดมาตรการอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

สำหรับการลงทุนของรัฐในภาคพลังงานและเหมืองแร่จะมุ่งเน้นการขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้าสู่ชนบท และพื้นที่ห่างไกลเป็นสำคัญ
โดยจะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบโครงข่ายในแขวงไซสมบูน และ การขยายโครงข่ายไฟฟ้าใน 3 แขวงที่มีอัตรา
การใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุด ได้แก่ แขวงหัวพัน พงสาลี และเซกอง พร้อมทั้ง จะขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล
ในแขวงที่เห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงไฟฟ้า ของประชากรลาวให้ได้ร้อยละ 98 ภายในปี 2568

ที่มา: นสพ. ประชาชน วันที่ 17 ม.ค. 2565
http://www.pasaxon.org.la/pdfs/309317-01-2022_compressed.pdf

01/28/2022



กลับหน้าหลัก