กฎระเบียบที่ควรรู้

พลังงานสะอาด กับโอกาสการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจแบบยั่งยืนของ สปป. ลาว

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานในหลายพื้นที่ของอาเซียน ทั้งในเมียนมา กัมพูชา และ สปป. ลาว เนื่องจากน้ำมัน
เชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นทั่วโลก สปป. ลาว จึงได้ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการคมนาคม และขนส่ง
เช่น การนำใช้รถไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ให้มากขึ้นเพื่อ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังเป็นการผลักดันการนำใช้
ทรัพยากรที่มีภายในประเทศให้เกิดประโยชน์ และมุ่งเน้นการส่งออกเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลัง
เผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อ

สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านลักษณะภูมิศาสตร์และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านทั้งประเทศ มีความเหมาะสมและ
เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างโครงการเกี่ยวกับการให้กำเนิดพลังงาน โดยเฉพาะการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยการศึกษา
พื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีพื้นที่ที่สามารถสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กได้มากกว่า 140 แห่ง

ปัจจุบัน สปป. ลาว มีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าแล้ว 90 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น ไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีกำลังการผลิต
ติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป จำนวน 77 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81 ของพลังงานที่ผลิตทั้งหมด ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน
8 แห่ง ไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจำนวน 4 แห่ง และไฟฟ้าพลังงานความร้อนถ่านหินจำนวน 1 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดกว่า
10,956 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 72 ที่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งออกจำหน่ายไปต่างประเทศ อาทิ ไทย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์
และเมียนมา

ที่ผ่านมา สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับการร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะไทย ซึ่งได้ลงนาม MOU ขยายกรอบ
ความร่วมมือด้านพลังงานจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยในการขยายการผลิต และตอบสนองนโยบาย
ด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทย ที่ต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สิงคโปร์ได้ลงนามขอซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก สปป.ลาว โดยจะจัดส่งกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งข้ามประเทศ เบื้องต้นรัฐบาล
สปป. ลาวจะส่งไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ไปยังสิงคโปร์ เนื่องจากเมื่อปี 2557 สปป. ลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ได้ร่วมกัน
จัดตั้ง “โครงการร่วมส่งพลังงาน สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์” หรือ Lao PDR, Thailand, Malaysia and Singapore Power
Integration Project: LTMS-PIP ขึ้น โดยอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และโครงการส่งกระแสไฟฟ้า
แห่งอาเซียน หรือ ASEAN Power Grid ที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้ทั่วถึงภายในอาเซียน โดย สปป.ลาว
สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้จำนวนมากและประสงค์จะจำหน่ายไฟฟ้าเหล่านี้ให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยประกาศตัว
เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียและความร่วมมือของ 4 ประเทศนี้จะทำให้อาเซียนตอนบนมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เข้มแข็ง

เมื่อเดือน ก.ย. 2559 สปป. ลาว ไทย และมาเลเซีย ได้ลงนามจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
(Electricite du Laos: EDL) การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และบริษัท Tanaka Electric National มาเลเซีย นอกจากนี้ สปป. ลาวยังร่วมมือ
กับจีน ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแบบระบบสู่ระบบ (Grid to Grid) โดยบริษัท China Southern Power Grid หรือ CSG
และ EDL ลงนามข้อตกลงการค้าไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์เมื่อเดือน มี.ค. 2565 เพื่อใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำส่วนเกินใน สปป. ลาวช่วงฤดูฝน
 และตกลงส่งไฟฟ้าพลังน้ำส่วนเกินจากลาวไปยังมณฑลยูนนานในช่วงฤดูฝน ในขณะเดียวกัน CSG จะเสริมกำลังการจ่ายไฟฟ้า
ให้พื้นที่ตอนเหนือของ สปป. ลาวลาวในฤดูแล้ง เพื่อความมั่นคง และเสถียรภาพทางด้านพลังงาน

นายดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป. ลาว กล่าวว่าพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
ในการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนโดยการผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลายและคุ้มค่าจะสามารถสร้างแหล่งพลังงานที่มั่นคงและ
แข็งแกร่งสำหรับการส่งออกและการใช้ภายในประเทศ ปัจจุบัน สปป. ลาวได้ริเริ่มโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกหนึ่ง
โครงการที่แขวงอัตตะปือ มูลค่าสูงถึง 69.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 64MWdc/50MWac
และกำลังการผลิจอยู่ที่ 128 GWh ต่อปี

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้เข้ามาส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานใน สปป.ลาวอย่างเต็มที่โดยเป้าหมายหลัก
เพื่อให้บรรลุข้อตกลงสร้างความเป็นกลางทางด้านคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ปัจจุบัน นักลงทุนด้านพลังงานสะอาด
เริ่มเข้ามาลงทุนใน สปป. ลาวเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าจะผลิตพลังงานเพื่อส่งออก ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญที่ ADB
ให้การสนับสนุนเพื่อการส่งออกไปยังเวียดนาม เช่น (1) โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 1.6 กิกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าพลังงานลม
Monsoon Wind ขนาด 600 เมกะวัตต์ในแขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ โดยทั้ง 2 โครงการเป็นการผลิตพลังงานจากลมที่ใหญ่ที่สุด
และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 90 ล้านตัน

โครงการด้านพลังงานหลายโครงการที่เตรียมผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของลาวอีกในช่วงหลังจากนี้ ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลลาว
และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายประเทศ จะเป็นอีกก้าวที่จะเป็นโอกาสบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษกิจแห่งชาติของ
สปป. ลาว และการทำให้โครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียนเป็นจริงในอนาคตอันใกล้

ข้อมูลอ้างอิง
การดำเนินแผนพัฒนาภาคพลังงาน และ เหมืองแร่ในช่วง 6 เดือนแรกปี และทิศทางแผนการ 6 เดือนท้ายปี 2565
https://www.dropbox.com/s/wkpibkmd2487utm/6%E0%BB%80%E0%BA%94%E0%BA%B7%E0%BA%AD%E0
%BA%99%E0%BA%95%E0%BA%BB%E0%BB%89%E0%BA%99%E0%BA%9B%E0%BA%B52022.pdf?dl=0
https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten157_US$_y22.php
https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten74_Laospromotes.php

08/22/2022



กลับหน้าหลัก