กฎระเบียบที่ควรรู้

รถไฟลาว-จีน การคมนาคมที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจลาว

สปป. ลาว ได้ร่วมมือกับจีนเพื่อพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงทางรางเพื่อขนส่งสินค้า รวมถึงขนส่งผู้โดยสารตามแนวระเบียง
เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟ ตลอดจนยกระดับรูปแบบของการคมนาคม
ขนส่งและโลจิสติกส์ ในสปป. ลาว ให้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งการเปิดให้บริการของรถไฟลาว-จีน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำ
ให้ สปป. ลาว เป็นข้อต่อที่สำคัญของภูมิภาค ส่งเสริมการเชื่อมโยง สปป.ลาวเข้าสู่กับห่วงโซ่การค้าผ่านระบบขนส่งแบบโลจิสติกส์
ที่ทันสมัย ด้วยการปรับนโยบายให้มีความเหมาะสม รวดเร็ว มีคุณภาพและต้นทุนที่ถูกลง ขนส่งได้ปริมาณมากและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นับตั้งเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนตุลาคม 2565 ในระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา
รถไฟลาว-จีนได้ให้การบริการขนส่งสินค้าจำนวน 8,510,000 ตัน เป็นการขนส่ง สินค้าระหว่างประเทศกว่า 1,540,000 ตัน
แบ่งเป็นสินค้านำเข้ามา สปป. ลาว จำนวนประมาณ 280,000 ตัน และสินค้าที่ สปป. ลาว ส่งออกไปจีนประมาณ 948,000 ตัน
การบริการขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.8 ในแต่ละเดือน

นอกจากนี้ โครงการรถไฟลาว-จีน ยังขยายการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเน้นรับภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ
โครงการพัฒนาที่ขยายตัวปานกลางและน้อยให้ยั่งยืนไปพร้อมกัน อาทิ ภาคการท่องเที่ยว การบริการขนส่ง การเกษตร
ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจ SME และการผลิตของภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมด้วย

รถไฟลาว-จีน ยังช่วยเพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศลาว ภายหลังการเปิดประเทศเมื่อเดือน พ.ค. 2565
มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจใช้บริการรถไฟสายดังกล่าว ทำให้การท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟมีความคึกคักมากขึ้น
และช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว ยกตัวอย่างจากปกติการเดินทางโดยรถยนต์จากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยัง
หลวงพระบางอาจใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน การโดยสารรถไฟจะใช้เวลาเพียง 2 ชม. เท่านั้น

การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาล สปป. ลาวและ บ. รถไฟลาว-จีน ต้องเพิ่มเที่ยว การเดินรถไฟในช่วงหยุดยาว
โดยสถิติการเปิดให้บริการในระยะเวลา 10 เดือน มีจำนวนผู้โดยสารทั้งภายใน และชาวต่างชาติเข้าใช้บริการแล้วกว่า 7,390,000 คน
โดยเส้นทางยอดนิยมตามขบวนรถไฟลาว-จีน ได้แก่ เวียงจันทน์-หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก รวมถึงเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์
และ เมืองไซ แขวงอุดมไช ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและกิจกรรมกลางแจ้งที่หลากหลาย เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยม
ของ สปป. ลาว ซึ่งนอกจากสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นโอกาสให้กับการค้าและการบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ภาคการบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการขนส่งของ สปป.ลาว ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวประมาณร้อยละ 7-8
และมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในลาวถึง 1,681,000 คน สะท้อนผลตอบรับ แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของลาวด้วย
การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อจีนเปิดประเทศแล้ว รถไฟลาว-จีน จะเป็นเส้นทางที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก สร้างโอกาส
ทางด้านเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในอนาคต
ทั้งด้านการบริการ การประชาสัมพันธ์ และการตลาดร่วมด้วย

แม้รถไฟลาว-จีนจะเปิดให้บริการเกือบหนึ่งปีแล้ว แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการให้บริการหลายด้าน โดยเฉพาะการจำหน่ายบัตร
โดยสารที่ยังไม่เปิดบริการออนไลน์ การจำกัดจำนวนซื้อต่อคน ทำให้ไม่สอดคล้องกับ ความต้องการของนักท่องเที่ยวและ
ผู้ต้องการโดยสารรถไฟ ซึ่งรัฐบาล สปป.ลาว อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบการสำรองและจำหน่วยบัตรโดยสาร
ซึ่ง BIC เวียงจันทน์ จะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
https://kpl.gov.la/detail.aspx?id=69084 https://kpl.gov.la/detail.aspx?id=69022
https://english.news.cn/asiapacific/20220106/1a8b1b70d29b456f888a50efb66aed4e/c.html
https://laotiantimes.com/2022/05/26/laos-china-railway-to-link-with-thanaleng-dry-port/
https://www.laophattananews.com/archives/143754

11/18/2022



กลับหน้าหลัก