กฎระเบียบที่ควรรู้

การชำระค่าหุ้น

ตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจของ สปป. ลาว นั้น ได้ให้คำนิยามของหุ้นไว้กล่าวคือ หุ้น เป็นทุนของ วิสาหกิจหุ้นส่วน หรือบริษัทที่แบ่งออกเป็นส่วน ซึ่งอาจมีมูลค่าเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ วิสาหกิจนั้น ๆ ซึ่งในการชำระค่าหุ้นดังกล่าว กฎหมายได้วางแบบแผนและวิธีการในการชำระค่าหุ้นเอาไว้ โดยในบทความนี้ จะ กล่าวเฉพาะการชำระค่าหุ้นที่แบ่งออกเป็นส่วนที่มีมูลค่าเท่ากันของวิสาหกิจในรูปแบบบริษัท คือ บริษัทจำกัด บริษัทจำกัดผู้เดียว และบริษัทมหาชน เท่านั้น

ในการชำระค่าหุ้นก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สิ่งที่ใช้ชำระค่าหุ้นอาจเป็นเงินหรือวัตถุก็ได้ โดยหาก ในกรณีที่เป็นการชำระค่าหุ้นด้วยวัตถุ ต้องมีการนำวัตถุนั้นมาประเมินมูลค่าให้เป็นเงินเสียก่อน โดยกฎหมาย กำหนดให้ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมผู้จัดตั้งบริษัทและผู้จองซื้อหุ้นที่ จัดขึ้นเพื่อจัดตั้ง บริษัทจำกัดและกฎหมายยังได้เปิดช่องไว้ให้สามารถใช้สิ่งอื่นนอกจากวัตถุและเงิน เพื่อชำระค่าหุ้นได้เช่น หุ้นของบริษัทอื่นซึ่ง จะต้องมีการตกลงยอมรับและตีมูลค่าภายในที่ประชุมจัดตั้งบริษัทก่อนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือในภายหลังเมื่อได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นแล้ว หรือการ ชำระค่าหุ้นในกรณีอื่น ๆ เช่น การชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท กฎหมายกำหนดให้ชำระค่าหุ้นดังกล่าว เป็นเงินเท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่ได้มีการตกลงให้สามารถใช้วัตถุ หรือสิ่งอื่นนอกจากวัตถุและเงิน เพื่อชำระค่าหุ้น ได้โดยจะต้องได้รับการรับรองด้วยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น คือ ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และต้องคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด เสียก่อน

ผู้ที่มีหน้าที่ในการเรียกชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทจากผู้จัดตั้งและผู้จองซื้อหุ้นนั้น คือ กรรมการบริษัท โดยในกรณีของบริษัทจำกัดจะเรียกให้ชำระภายหลังจากการประชุมจัดตั้งบริษัท ซึ่งหากตกลงให้ชำระค่าหุ้น เป็นเงิน ผู้จองซื้อจะต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำอย่างน้อย 70% ของค่าหุ้นที่ตนจองซื้อ ส่วนในกรณีเป็นการชำระค่า หุ้นด้วยวัตถุ ผู้จองซื้อจะต้องชำระค่าหุ้นให้ครบทั้งหมดเต็มจำนวน และในภายหลัง เมื่อได้มีการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทขึ้นแล้ว กรรมการของบริษัทสามารถเรียกชำระค่าหุ้นในส่วนที่ยังคงค้างไม่ได้ชำระเวลาใดก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่ข้อบังคับของ บริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ดำเนินการตามที่กำหนดซึ่งผู้จองซื้อหุ้นจะต้อง ชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นเงิน และไม่ สามารถขอหักกลบลบหนี้ในค่าหุ้นดังกล่าวกับหนี้ที่บริษัทมีต่อตนได้ เว้นแต่ได้รับการรับรองด้วยมติพิเศษดังที่ได้ กล่าวข้างต้น

ในกรณีของบริษัทจำกัดผู้เดียว และบริษัทมหาชน กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชำระค่าหุ้นให้ครบถ้วน ก่อน ที่จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ไม่ว่าจะมีการตกลงให้ผู้จองซื้อชำระค่าหุ้นในรูปของเงินหรือวัตถุใดๆ ก็ตาม

ในการเรียกให้ชำระค่าหุ้น กรรมการจะต้องทำหนังสือแจ้งให้ชำระค่าหุ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งให้ผู้ถือ หุ้นแต่ละรายทราบล่วงหน้า 30 วัน โดยจะต้องระบุรายละเอียดกำหนดเวลาที่ต้องชำระ และจำนวนเงินที่ต้องชำระ ไว้ ให้ครบถ้วน โดยในกรณีที่ผู้จองซื้อหุ้นไม่ชำระค่าหุ้นที่จองซื้อให้ครบถ้วนตามที่กรรมการบริษัทเรียกให้ชำระ ครั้งแรก ผู้จองซื้อหุ้นจะต้องชำระดอกเบี้ยในมูลค่าหุ้นส่วนที่ตนยังไม่ได้ชำระ ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวจากกรรมการ เป็นต้นไป และในระหว่างระยะเวลาที่ยังชำระ ไม่ครบถ้วน ผู้จองซื้อหุ้นมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้เฉพาะในส่วนหุ้นที่ตนได้ชำระครบถ้วนแล้วเท่านั้น

อนึ่ง หากเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นยังคงไม่ชำระทั้งมูลค่าหุ้นและดอกเบี้ย ภายหลังจากกรรมการบริษัทได้เรียกให้ ชำระเป็นครั้งที่สองแล้ว ให้นำหุ้นที่ผู้จองซื้อนั้นๆ ถืออยู่ ออกเสนอขายตามลำดับบุริมสิทธิ กล่าวคือ ให้เสนอขาย เป็นการภายในแก่ผู้ถือหุ้นด้วยกันเองก่อน ถ้าเหลือให้เสนอขายกรรมการ และหากยังเหลืออีกให้นำออกเสนอขาย แก่บุคคลภายนอก เมื่อได้เงินจากการบังคับเสนอขายหุ้นแล้ว ให้หักเงินที่ได้จ่ายเป็นค่าหุ้นที่ยังขาดและค่าดอกเบี้ย เงินที่ เหลือให้ส่งคืนแก่ผู้จองซื้อหุ้นรายนั้นๆ ไป ส่วนในกรณีเงินที่ได้รับจากการเสนอขายดังกล่าว ยังไม่เพียงพอ สำหรับ ค่าหุ้นที่ยังขาดและค่าดอกเบี้ย กรรมการยังคงมีสิทธิทวงถามให้ผู้จองซื้อหุ้นรายนั้นๆ ชำระหนี้ให้ครบถ้วน มิเช่น นั้นกรรมการมีสิทธิปฏิเสธการขึ้นทะเบียนโอนหุ้น หรืองดสิทธิออกเสียงของ ผู้ถือหุ้นดังกล่าวในการลง คะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้

ทั้งนี้ ในกรณีการออกหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทนั้น เมื่อได้มีชำระเงินครบถ้วนแล้ว จะต้องมีการนำหุ้นดังกล่าว ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนเสียก่อน บริษัทจึงจะสามารถนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวมาใช้ได้

ดังนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระค่าหุ้น และการดำเนินการเกี่ยวกับการชำระค่า หุ้นไว้ค่อนข้างละเอียด เนื่องจากหุ้นนั้นถือเป็นทุนหลักทางหนึ่งของบริษัท ผู้มีความประสงค์จะดำเนินกิจการ และ นักลงทุน จึงควรศึกษาถึงเงื่อนไข วิธีการ และขั้นตอนดังกล่าวให้ถ่องแท้ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ตนเอง และบริษัท



กลับหน้าหลัก