ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

เดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2559 ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน อย่างเป็นทางการ ณ จุดก่อสร้างบ้านพอนไซ แขวงหลวงพระบาง

รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ดร.บุญจัน สินทะวง ชี้แจงว่า หลังจากที่ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เส้นทางรถไฟลาว – จีน ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ในวันนี้จึงได้มีพิธีลั่นฆ้องการทำงานอย่างจริงจัง โดยสาเหตุที่เลือกทำพิธีในจุดก่อสร้างแขวงหลวงพระบางนั้น เป็นเพราะจุดก่อสร้างดังกล่าวเป็นบ้านเกิดของ ท่านสมสะหวาด เล็งสะหวัด อดีตรองนายกฯ ผู้ริเริ่มให้เกิดโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน พร้อมกันนี้ วันที่ 2 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัทก่อสร้างจากจีนทั้ง 6 บริษัท ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ 6 ตามเส้นทางรถไฟทั้ง 417 กม. ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทางรถไฟฯ ประมาณ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะสร้างในพื้นที่ชายแดนเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างทางรถไฟรางเดี่ยวแล้วเสร็จใน 5 ปีข้างหน้า และโครงการการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564

ดร. บุญจัน ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน ประกอบด้วย นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี, ท่านสมสะหวาด เล็งสะหวัด คณะกรรมการกลาง และที่ปรึกษาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว, นายกวน หัวบิ่ง อัครราชทูตจีนใน สปป.ลาว และเจ้าหน้าที่จากจีนและ สปป.ลาว การดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟในภูมิภาคจากจีนไปยังสิงคโปร์ ผ่าน สปป.ลาว, ไทย และมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนใน สปป.ลาว ขณะเดียวกัน เส้นทางรถไฟจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะพลิกวิกฤตของสปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลให้เป็นโอกาสในการเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ตลอดจนทำให้เกิดความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และกระตุ้นการพัฒนาด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

ทางการลาวได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน นี้ว่า ได้ประมาณจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศโดยรถไฟลาว – จีน คาดว่าจะสูงถึง 3.98 ล้านคนต่อปี หากมีการเดินรถไฟแล้วนั้นคาดว่าตัวเลขผู้โดยสารในระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.11 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.62 ล้านคนในระยะยาว ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 161,850 กีบ ซึ่งมีราคาถูกกว่าค่าใช้จ่ายรถโดยสารสาธารณะ ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 285,000 กีบ ทั้งนี้ การใช้รถไฟขนส่งสินค้าจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีน คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 269,750 กีบต่อตัน ซึ่งมีราคาถูกกว่าการขนส่งสินค้าทางถนนที่มีค่าใช้จ่าย 833,340 กีบต่อตัน

การศึกษายังพบว่าเมื่อเส้นทางรถไฟในภูมิภาคเสร็จสมบูรณ์จะทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่โดยสารรถไฟในห้าประเทศที่รถไฟแล่นผ่าน ได้แก่ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าตัวเลขเริ่มต้นของผู้โดยสารจะถึง 9.65 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.98 ล้านคนในระยะสั้น และจะเพิ่มเป็น 16.5 ล้านคนในปีต่อมา ขณะที่การขนส่งสินค้าโดยรถไฟระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ จะมีปริมาณการขนส่งสินค้า 2.59 ล้านตันต่อปี และในระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.62 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.46 ล้านตันในระยะยาว

ทั้งนี้รัฐบาล สปป.ลาว และจีน ได้ลงนามร่วมกันในโครงการรถไฟลาว – จีน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 โดยจะมีสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 167 สะพาน มีความยาวทั้งหมด 61.81 กิโลเมตร และมีอุโมงค์ 75 อุโมงค์ ความยาวทั้งหมด 197.83 กม. นอกจากนี้ยังมีสถานีทั้งหมด 32 สถานี และ 21 สถานีที่รถไฟสองขบวนสามารถแล่นผ่านได้ อีกทั้งมีความเร็วเต็มที่บนภูเขา 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วบนพื้นราบ 200 กม. ต่อชั่วโมง หากใช้ขนส่งสินค้าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมง

 ที่มา : หนังสือพิมพ์ Vientiane Times, ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2559
ที่มารูปภาพ : Bangkokbiznews

12/27/2016



กลับหน้าหลัก