ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

ADB ประเมินเศรษฐกิจ สปป. ลาวจะขยายตัวในระดับร้อยละ 6.8

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สปป. ลาว จะขยายตัวร้อยละ 6.8 ในปีนี้ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7 ในปีหน้า สำหรับส่วนผลักดันสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจ สปป. ลาว ขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อาทิ เขื่อนไฟฟ้า และแขนงการบริการ ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาว ยังคงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นด้วย 


นายยาชุชิ เนกิชิ ผู้แทน ADB ประจำสปป. ลาว กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาล สปป. ลาว ออกนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เข้มงวดมากขึ้นแต่เศรษฐกิจของสปป. ลาว ก็ยังคงโตอยู่ในระดับคงที่ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนในโครงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวของแขนงการบริการต่างๆ


ในรายงานของนายลัดตะนะไต หลวงลาดบันดิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารรัฐ ประจำ ADB สปป. ลาว รายงานว่า การขยายตัวของแขนงอุตสาหกรรมที่ลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันยังมีการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวที่สูงขึ้นเล็กน้อยในแขนงการบริการ และการลงทุนในโครงการพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรีที่มีกำลังการผลิตถึง 1,300 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออกได้ในปี 2561 นั้นจะช่วยให้แขนงอุตสาหกรรมมีอัตราเติบโตเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันแขนงกสิกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 และคาดการณ์ว่าการขยายตัวของแขนงการบริการจะมีความเข็มแข็งเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นจากการดำเนินนโยบาย Visit Laos Year ของรัฐบาล สปป. ลาว 


แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาว ยังคงมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับร้อยละ 2.0 – 2.5 การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 ของ GDP ในปีนี้อันเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการนำเข้าเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งทำให้รัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกของ สปป. ลาว ยังอยู่ในระดับปานกลาง และคาดว่าเมี่อโครงการพลังงานไฟฟ้าสามารถดำเนินการผลิตและส่งออกไฟฟ้าได้จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงประมาณร้อยละ 13.7 ของGDP ทั้งนี้ สปป. ลาว ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นต่อการคาดคะเนเศรษฐกิจของ สปป. ลาว อาทิ การไม่มีเสถียรภาพในตลาดการเงินโลก สภาวะการค้าการลงทุนที่ลดลงใน สปป. ลาวหากความพยายามของรัฐบาลในการกำกับดูแลภาพรวมของการเงินไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้จะส่งผลให้เกิดความยุ่งยากโดยเฉพาะในการชำระหนี้ของ สปป. ลาว 


สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายในการพัฒนาของ สปป. ลาว คือความไม่สอดคล้องกันระหว่างคุณภาพการศึกษาและฝีมือแรงงานตลอดถึงการเลือกศึกษาต่อในแขนงที่มีความนิยมสูง แต่ไม่มีตลาดแรงงานรองรับ 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า วันที่ 13 เมษายน 2561

04/25/2018



กลับหน้าหลัก