ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

รัฐบาล สปป. ลาวคุมเข้มด้านการเงิน เงินตรา และการลงทุนให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2562 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว 
กล่าวในที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 8 ของสภาแห่งชาติ ชุดที่ 8 ว่า สปป. ลาวเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาค
เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณ การขาดดุลการชำระเงินกับต่างประเทศ และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ 
ส่งผลให้ค่าเงินกีบอ่อนค่าและส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบ
จากภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน 

การเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคมี 3 เป้าหมาย คาดการณ์ตัวเลขการผลิตและการบริการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า 
ในปี 2562 เศรษฐกิจ สปป. ลาวจะขยายตัวอยู่ในอัตราร้อยละ 6.4 ลดลงร้อยละ 0.3 (สภาแห่งชาติกำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.7) 
คิดเป็นมูลค่า 18,543 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สภากำหนดไว้ที่ 18,693 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รายได้เฉลี่ยต่อคน 
2,683 ดอลลาร์สหรัฐ (สภากำหนดไว้ที่ 2,726 ดอลลาร์สหรัฐ) 

ด้านการเงิน เงินตรา และการลงทุน มี 3 เป้าหมายในการดำเนินการตามแผนงบประมาณ คือ ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 
การจัดเก็บรายได้คิดเป็นร้อยละ 65.62 ของแผนประจำปี คาดว่าปี 2562 จะสามารถบรรลุร้อยละ 97.1 ของแผน ด้านรายจ่าย 
คิดเป็นร้อยละ 56.36 ของแผน และคาดว่าปี 2562 จะสามารถบรรลุร้อยละ 98.7 ของแผน สำหรับการดุลการค้า ในช่วง 9 เดือน
ที่ผ่านมาพบว่า สปป. ลาวขาดดุลการค้า 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าทั้งปี จะขาดดุล 853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
(สภากำหนดไว้ที่ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ รัฐบาล สปป. ลาวจะดำเนินการ ตามคำสั่งเลขที่ 12/นย ของนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการจัดดำเนิน 8 มาตรการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ 

ด้านเงินตรามี 6 เป้าหมาย โดยรัฐบาลจะพยายามรักษาเสถียรภาพของเงินตราโดยใช้นโยบายเงินตรา และอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างเหมาะสม ใช้นโยบายเงินตราทางอ้อมและการปรับเงินตราต่างประเทศให้กับการนำเข้าสินค้า ที่จำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 
ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราให้อยู่ในกรอบที่สภาแห่งชาติรับรองไว้ โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนกีบเฉลี่ยเปลี่ยนแปลง
ในกรอบ ± ร้อยละ 5 ต่อปี (สภากำหนดไว้ ± ร้อยละ 5) โดยช่วง ม.ค. – ก.ย. 2562 เงินกีบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเฉลี่ย
ร้อยละ 2.88 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.47 เงินสำรองระหว่างประเทศเดือน ก.ย. 2562 ครอบคลุมการนำเข้าเพียง 3.02 เดือน 
(สภากำหนดไว้ที่ 3 เดือน) และปริมาณเงิน ตามความหมายกว้าง (M2) เดือน ก.ย. 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.96 (สภากำหนดให้
ไม่เกินร้อยละ 20) 

ด้านการลงทุนมี 4 เป้าหมาย คือ รัฐบาลกำหนดแผนการลงทุนรวมทั้งหมดของปี 2562 ไว้ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น
ร้อยละ 26.8 ของ GDP ปัจจุบันมีการลงทุนของภาครัฐไปแล้วประมาณ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 50.08 ของแผนการลงทุน 
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 รัฐบาลดำเนินโครงการ ODA ไปแล้วรวมมูลค่า 615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (รวมโครงการเสนอใหม่และ
โครงการต่อเนื่อง) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 77 ของมูลค่าที่กำหนดไว้ในแผนการลงทุนอยู่ที่ 802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าปี 2562 
จะสามารถบรรลุตามแผนการลงทุนที่ได้กำหนดไว้เนื่องจากผู้ให้ทุนยังคงให้การสนับสนุนตามที่ได้ตกลงกันไว้ 

ในส่วนการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศมีทั้งหมด 1,266 โครงการ/กิจการ รวมมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
เท่ากับร้อยละ 88.02 ของแผนการลงทุนที่สภาแห่งชาติได้กำหนดไว้ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยทุนที่นำเข้าจริงผ่านระบบ
ธนาคาร 397.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ โครงการทางด่วน 113.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้า 102.25 ล้านดอลลาร์
สหรัฐ และโครงการอื่น ๆ 182.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนทุนที่นำเข้าเป็นวัสดุและอุปกรณ์ และพาหนะมูลค่า 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
โดยโครงการก่อสร้าง ทางรถไฟลาว – จีนมีการลงทุนแล้ว 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าทั้งปี 2562 จะสามารถบรรลุหรืออาจจะ
เกินแผนการลงทุนที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายอำนวยความสะดวกการนำเข้าทุน วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้ในโครงการ
ขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนด้านการเงินและเงินตราคาดว่าจะสามารถบรรลุได้ตามแผนการลงทุนที่กำหนดไว้ที่ 
1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ รัฐบาลจะควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศส่งผลให้ส่วนต่าง
ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกับตลาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นฐานการผลิตภายใน ไม่เข้มแข็ง ขาดดุลชำระเงินกับต่างประเทศ
ในระดับสูง รวมทั้งมีการใช้เงินตราหลายสกุลในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินตราต่างประเทศแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินสำรอง
ระหว่างประเทศมีอยู่จำกัด และความต้องการเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูงเกินกว่าความสามารถในการตอบสนองของธนาคาร 

สปป. ลาวเผชิญความท้าทายในการเก็บรายได้ไม่ครบถ้วนและอาจไม่บรรลุตามแผนการ การคุ้มครองราคาสินค้าและการผลิตยังอยู่ใน
ระดับต่ำ การลงทุนภาครัฐส่วนมากเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานในขณะที่การคุ้มครองโครงการ ยังไม่เข้มงวด การรายงานการใช้ ODA 
ยังขาดประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำและยังต้องพึ่งพาธรรมชาติ อุตสาหกรรมแปรรูปขยายตัวในระดับต่ำ 
การใช้เทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมยังมีน้อย การปลูกไม้อุตสาหกรรมทดแทนเพื่อสร้างรายรับให้แก่ประเทศยังมีจำกัด 
การผลิตและการแข่งขันของ SMEs ยังไม่ขยายตัว การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน การใช้วิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตยังมีไม่มากนัก 

ในช่วงปลายปี 2562 รัฐบาล สปป. ลาวจะยังคงผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามเป้าหมายที่สภาแห่งชาติลาวกำหนดไว้และ
ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดที่รัฐให้การคุ้มครอง ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง
ธนาคารกับร้านรับแลกเปลี่ยนเงินให้เป็นไปตามระเบียบ จัดเก็บรายได้ให้บรรลุตามแผน ด้วยการเก็บจากฐานที่มีแล้วให้ครบถ้วน
และขยายฐานรายได้โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการจัดเก็บรายได้ พร้อมทั้งเร่ง ให้หน่วยงานและขยายการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ 
ผ่านระบบธนาคารและผ่านมือถือ เข้มงวดการดำเนินงานด้านภาษี ให้ครบถ้วน โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งพัฒนารัฐวิสาหกิจ 

ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารแห่ง สปป. ลาว วันที่ 21 พ.ย 2562 
http://www.bol.gov.la/fileupload/21-11-2019_1574308628.pdf

12/17/2019



กลับหน้าหลัก