บทรายงานของนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว ต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 9 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 8
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้แถลงต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 9 ของสภาแห่งชาติ
ชุดที่ 8 เกี่ยวกับผลการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2559 – 2563) แผนงบประมาณแห่งรัฐ
แผนการเงิน 5 เดือน การคาดการณ์ 6 เดือนแรกของปี 2563 และทิศทาง 6 เดือนหลังของปี 2563 สรุปรายงานในด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
1. สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติและศูนย์สถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า GDP ลาวปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.6
(สภาแห่งชาติเคยรับรองไว้ที่ร้อยละ 6.5) ในกรณี GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จะมีมูลค่าประมาณ 19,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยภาคเกษตรกรรมจะขยายตัวร้อยละ 2.3 (ลดลงร้อยละ 0.4 จากแผนประจำปี) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ร้อยละ 6.8
(ลดลงร้อยละ 1.5) ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 1.7 (ลดลงร้อยละ 5.2) และมีโอกาสติดลบร้อยละ 4.5 การนำเข้าและ
ส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 5,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 39.78 ของแผนประจำปี
การส่งออกลดลงร้อยละ 6.1 การนำเข้าลดลงร้อยละ 8.1 และคาดว่าปี 2563 จะสูญเสียรายได้จากการส่งออก
ประมาณ 483.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคการผลิตไฟฟ้าและแร่ธาตุจะผลิตได้ 41,340 ล้านกิโลวัตต์ มูลค่าประมาณ
2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 6.6) และ 1,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกินแผนร้อยละ 13) ตามลำดับ
ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2563 สปป. ลาวผลิตไฟฟ้าได้ 18,808 ล้านกิโลวัตต์ มูลค่าประมาณ 1,085 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และผลิตแร่ธาตุได้ 574 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. ด้านการคลัง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 สปป. ลาวสามารถจัดเก็บรายได้ 857.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น
ร้อยละ 27 ของแผนประจำปี (3,214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าในปี 2563 จะสามารถจัดเก็บรายได้เพียง ร้อยละ 78
ซึ่งลดลงจากแผน 700.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันรัฐบาลมีรายจ่าย 954.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ
24.13 ของแผน (3,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้น ในปี 2563 คาดว่า สปป. ลาวจะขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น จาก 742.26
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 3.77 ของ GDP) เป็น 1,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 5.78 ของ GDP)
3. ด้านการเงิน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M2) อยู่ที่ร้อยละ 19.2 (แผนประจำปี
กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 20) เงินสำรองระหว่างประเทศสามารถครอบคลุมการนำเข้าได้ 3.4 เดือน (แผนประจำปีกำหนด
ไว้อย่างน้อย 3 เดือน) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เงินฝากของภาคธนาคารคงเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.96 สินเชื่อ
ของภาคธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.09 หนี้เสีย (NPLs) อยู่ที่ร้อยละ 3.2 (แผนกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 3) และสินเชื่อ
MSMEs คิดเป็นร้อยละ 18.4 ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด
4. รัฐบาลใช้จ่ายในโครงการลงทุนของภาครัฐไปแล้วประมาณ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใน 2,384 โครงการ) คิดเป็น
ร้อยละ 40 ของแผนประจำปี
5. การลงทุนของภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศมีมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนประจำปี
6. สปป. ลาวได้รับ ODA แล้ว 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของแผนประจำปี
7. การบริหารหนี้สาธารณะ
- หารือกับองค์การระหว่างประเทศและมิตรประเทศเกี่ยวกับนโยบายคุ้มครองและฟื้นฟูเศรษฐกิจมหภาค ระงับ
การกู้ยืมจากต่างประเทศเพื่อนำมาสร้างดุลการคลัง แต่กู้ยืมเพื่อนำมาชำระเงินต้นของเงินกู้จากต่างประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาวจะเจรจาทวิภาคีกับบางประเทศเพื่อขอเลื่อนการชำระหนี้ปี 2563
- สานต่อการใช้คืนหนี้ในรูปแบบ “อวยหนี้ 3 แจ” (ทางออกที่รัฐบาลใช้ชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วยการขอให้ธนาคาร
ตัดหนี้กับลูกหนี้ แล้วรับพันธบัตรรัฐบาลชำระหนี้แทน ธนาคารจึงกลายเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ส่วนลูกหนี้ก็จะถูก
ตัดหนี้ออกไปทั้งหมดไม่มีภาระผูกพันกับธนาคาร) และออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟู
เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ
8. ทิศทางการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563
8.1 ด้านการเงิน
- จัดเก็บรายได้จากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 น้อย และธุรกิจอื่น ๆ หลังพ้นระยะกำหนดมาตรการ
ผ่อนคลายให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และควบคุมรายจ่ายของรัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้ง การชำระการลงทุน
ของรัฐเพื่อเสริมสภาพคล่องในแก่การดำเนินธุรกิจและการจ้างงาน - ปรับปรุงระบบจัดเก็บรายได้เข้ารัฐให้มีความทันสมัย
โดยเชื่อมโยงกับระบบธนาคารเพื่อลดการรั่วไหล ของงบประมาณ
- จำกัดรายจ่ายที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศและศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ
โดยการส่งเสริมการส่งออก จำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น
- ตรวจสอบโครงการลงทุนของรัฐที่แล้วเสร็จ และทบทวนการเจรจาต่อรองมูลค่าโครงการให้เหมาะสม กับสภาพ
ความเป็นจริงและเป็นธรรมให้สำเร็จหรือเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
- แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะอย่างมียุทธศาสตร์ โดยกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว เช่น การลดการขาดดุล
งบประมาณ การเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน สำหรับโครงการที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมให้ประเมินประสิทธิภาพและผลตอบแทนด้าน
เศรษฐกิจอย่างเข้มงวด การประเมินความสามารถในการกู้ยืมระยะกลางและยาว การบริหารหนี้สินด้วยความระมัดระวังและ
การประเมินความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินกู้ยืม จำนวนเงินกู้ และระยะเวลาการกู้ยืม พร้อมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่น
ของตลาดต่อการบริหารหนี้สินของรัฐ พัฒนาการบริหารหนี้สินให้เป็นระบบทันสมัย และลดการกู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ
ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ
- ดำเนินนโยบายการเงิน โดยการควบคุมปริมาณเงินความหมายกว้าง (M2) ให้ขยายตัวในระดับไม่เกิน ร้อยละ 20
ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐไม่เกินร้อยละ 5
เพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศให้ครอบคลุมการนำเข้าอย่างน้อย 3 เดือน ทำให้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ คงเหลืออยู่
ในระดับร้อยละ 58.43 ของ GDP และสินเชื่อของภาคธนาคารอยู่ในระดับร้อยละ 49.56 ของ GDP และควบคุม NPLs
ให้อยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3
8.2 ด้านการผลิต
- ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร การปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าและให้มีสินค้าเพียงพอกับ
ความต้องการภายในประเทศและเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการลดการนำเข้า ควบคุม และปรับราคาสินค้าที่มี
ความอ่อนไหวต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีความเหมาะสม - จัดสรรที่ดินสำหรับการทำการเกษตรและดำเนิน
โครงการเพื่อผลักดันการผลิตเป็นกลุ่มและในระบบสหกรณ์
- เสริมสร้างความเข้มแข็งและช่วยให้ SMEs และ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมีตลาดรองรับ
- ส่งเสริมการปลูกข้าวและเลี้ยงวัวเพื่อส่งออกไปจีนให้มากกว่าเดิม (โควตาข้าวจากจีน 50,000 ตันต่อปี และวัว 500,000 ตัวต่อปี)
โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนขนาดใหญ่และครบวงจรเพื่อการส่งออก
- ส่งเสริมการลงทุนภายในและต่างประเทศในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร
8.3 ด้านการบริการและการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายประเทศ (ลาวเที่ยวลาว) และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาด
ของโรคโควิด 19 ได้แล้ว
- ปรับปรุงบริการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้สะดวกรวดเร็วตามมาตรฐานสากล และอำนวยความสะดวก การนำเข้า – ส่งออกสินค้า
ตามด่านชายแดน
- ผลักดันโครงการลงทุนพัฒนาท่าบก (Dry Port) ที่ได้รับอนุมัติแล้วให้มีความคืบหน้าและแล้วเสร็จตามแผน ที่วางไว้
8.4 ด้านการส่งเสริมการลงทุนภายในและต่างประเทศ
- ปรับปรุงดัชนีชี้วัดความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกที่ยังเป็นอุปสรรคในการดึงดูด การลงทุน และติดตาม
โครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างและโครงการที่ลงนามแล้ว พร้อมทั้งตรวจสอบโครงการลงทุน ของรัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่า
การก่อสร้างสูง
- ติดตามและผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน โครงการก่อสร้างทางด่วน
เวียงจันทน์ – วังเวียง โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า โรงงานไฟฟ้าความร้อนถ่านหิน เพื่อให้สำเร็จตามแผน
8.5 การปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ - ปรับปรุงการบริหารจัดการและควบคุมหนี้สินของรัฐวิสาหกิจโดยการแบ่งหุ้นส่วน โอนหุ้น
หรือขายกิจการ
9. รัฐบาลเสนอให้ที่ประชุมสภาแห่งชาติฯ พิจารณา ดังนี้
- ปรับคาดการณ์ GDP สปป. ลาวจากร้อยละ 6.5 เหลือร้อยละ 3.3 – 3.6 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
- ปรับแผนงบประมาณประจำปี 2563 ได้แก่ (1) ปรับลดแผนจัดเก็บรายได้จาก 3,215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น
2,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) ปรับลดแผนรายจ่ายจาก 3,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3,663 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(3) ปรับแก้การขาดดุลการคลังจาก 742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 3.77 ของ GDP เป็น 1,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือร้อยละ 5.87 ของ GDP
ที่มา: เว็บไซต์สภาแห่งชาติลาว วันที่ 25 มิ.ย. 2563
http://www.na.gov.la/index.php?r=site/detailnews&id=353
06/26/2020