ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวเสนอให้ภาคเอกชนร่วมมือทำธุรกิจกับต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว เป็นประธานการประชุม
Lao Business Forum (LBF) ครั้งที่ 13 โดยมีนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป. ลาว
นายอุเดด สุวันนะวง ประธาน สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว และผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม

ดร. คำแพงฯ รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจจากการประชุม LBF ครั้งที่ 12 เช่น การคุ้มครองด้านภาษีอากร
การอำนวยความสะดวกทางการค้า การบริการของภาครัฐ การเข้าถึงแหล่งทุน และข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการปรึกษาหารือเกี่ยวกับ
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่บางธุรกิจได้พัฒนาขีดความสามารถของตนและเข้ามามีส่วนช่วยกำหนด
นโยบายร่วมกับพรรคและรัฐ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่น
ให้กับภาคเอกชน ซึ่งเป็น สิ่งที่ต้องอาศัยการปรึกษาหารือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนา
ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การกำหนดระเบียบและกลไกเศรษฐกิจตลาด
ซึ่งการปรับปรุงตามตามแนวทางข้างต้นล้วนแต่มีความสำคัญต่อการการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว

นายอุเดดฯ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของ สปป. ลาวขยายตัวช้าลง โดยในปี 2563 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.5
โดยมีหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และส่งผลให้การจ้างงานลดลง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการผลิต เนื่องมาจาก
มาตรการจำกัดการเดินทางและการเพิ่ม ความระมัดระวังจากสถานการณ์โควิด 19 โดยหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า
กว่าร้อยละ 80 ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และการแปรรูป และหลายธุรกิจต้องปิดกิจการถาวร
นอกจากนี้ ในปี 2563 แรงงานร้อยละ 15 ถูกเลิกจ้าง อีกทั้งแรงงานลาวในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจ
มีแนวโน้มจะฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจลาวยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะ ค่าเงินกีบอ่อนค่า ราคาอาหาร
และสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาวยังคงต้องได้รับการปรับปรุง ซึ่งสิ่งท้าทายดังกล่าว
ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านงบประมาณและเงินทุนช่วยเหลือภาคธุรกิจและสังคมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายพันคำฯ กล่าวว่า รัฐบาล สปป. ลาวได้ออกนโยบายและระเบียบเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ
การฟื้นตัวและขยายตัวของภาคธุรกิจในระยะกลางและระยะยาว และจะนำความเห็นของภาคธุรกิจไปเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่
ของกระทรวงและองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของชาติ กล่าวคือ เป็นผู้สร้างรายรับให้รัฐบาล
หากภาคธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ดี มีผลกำไรก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง รัฐบาลก็มีงบประมาณสำหรับใช้จ่าย
ในการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัว เช่น การให้บริการ
การส่งเสริมและคุ้มครองตามกฎหมายบนพื้นฐานของความเด็ดขาด โปร่งใส และเป็นมืออาชีพ นายพันคำฯ ได้มอบให้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ร่วมกันปรึกษาหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี โดยเฉพาะวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะต้อง
ดำเนินการปรึกษาหารือเป็นรายกรณีทันที พร้อมเน้นให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือครองทะเบียนวิสาหกิจอย่างถูกต้อง
เสียภาษี สร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งจัดตั้งกลุ่ม สมาคม หรือสหกรณ์ และร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของตน

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า 29 ก.ค. 2564

08/06/2021



กลับหน้าหลัก