ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวออกคำสั่งเพิ่มทวีการคุ้มครองและป้องกันการรั่วไหลของรายได้ภาครัฐ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวได้ออกคำสั่งเลขที่ 18/นย. ว่าด้วยการเพิ่มทวี การคุ้มครองและป้องกัน
การรั่วไหลของรายได้ภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้กระทรวง องค์การรัฐเทียบเท่ากระทรวง คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
ฝ่ายบริหารงบประมาณ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับตระหนักถึงความรับผิดชอบ ต่อหน้าที่ และขอบเขต
ของตนในการปฏิบัติตามกฎหมายและนิติกรรมเกี่ยวกับการคุ้มครองและป้องกันการรั่วไหล ของรายได้ของรัฐ ยุติ
หรือยกเลิกนิติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในการคุ้มครองรายได้ของรัฐบาล

2. ให้กระทรวงการเงินและหน่วยงานด้านการเงินดำเนินการ ดังนี้
2.1 ทบทวนนโยบาย กฎหมาย และนิติกรรมด้านการคลังที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน และศึกษาการร่างกฎหมายและนิติกรรม
ฉบับใหม่เพื่อสามารถคุ้มครองรายได้ตามฐานรายได้และศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และมีรายได้เพิ่มขึ้น
ป้องกันการรั่วไหลจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
เพื่อป้องกันการเลี่ยงและปกปิดการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในกรณี ที่ระเบียบการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานใดไม่สอดคล้อง
กับกฎหมาย ให้เสนอยกเลิกหรือยุติการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวทันที

2.2 ปฏิรูปกลไกการคุ้มครองรายได้รัฐบาล ดังนี้
      2.2.1 ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารปรับปรุงและขยายระบบการคุ้มครองรายได้ให้ทันสมัย เช่น โครงการคุ้มครอง
ระบบข้อมูลข่าวสารส่วยสาอากร (TaxRIS) ให้ครอบคลุมทั้ง 17 แขวง และนครหลวงเวียงจันทน์ และอีก 65 เมืองที่มีศักยภาพ
ภายในปี 2564 – 2565 และขยายให้ครอบคลุมทุกเมืองทั่วประเทศภายในปี 2566 การสร้างระบบคุ้มครองฐานข้อมูลการคลัง
แบบจุดเดียว และรวมการคุ้มครองรายได้รัฐบาล เช่น ASYCUDA TaxRIS Easy Tax และ SMART Tax เข้าไปในระบบดังกล่าว
เพื่อนำไปสู่ระบบการคุ้มครองแบบดิจิทัลตามยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการคลัง
      2.2.2 ปรับปรุงระบบการคุ้มครองและขยายฐานรายได้ ดังนี้
- ทบทวนการจัดประเภทฐานรายได้ของบริษัทตามที่กฎหมาย
กำหนด เช่น การแบ่งบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 50 ล้านกีบต่อปี ระหว่าง 50 – 400 ล้านกีบต่อปี และ 400 ล้านกีบต่อปีขึ้นไป
เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ในการจัดประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับ MSMEs และบริษัทที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่า
เพิ่มต้องถือครองบัญชีให้ถูกต้องและคำนวณบัญชีด้วยตนเอง รวมทั้งยื่น/ชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ให้ครบถ้วนและตรงเวลา
- ออกนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและสร้างสิ่งอำนวย ความสะดวกต่าง ๆ ตามระเบียบ
และออกนโยบายใหม่เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น และมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ละเมิด
อย่างเข้มงวด
- ออกนิติกรรมบังคับให้บริษัทใช้รูปแบบใบเรียกเก็บเงินของกระทรวงการเงินเพื่อให้ทุกฝ่ายปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
-ประสานกับกระทรวงป้องกันความสงบ กระทรวงภายใน และองค์การประกันสังคมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้บุคคลและนิติบุคคล
ที่มีรายได้ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและชำระภาษีเงินตามกฎหมายว่าด้วยอากรรายได้
- ร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งเสริมให้จัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าบริการ
ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมทั้งยกระดับการยื่นชำระภาษี ผ่านระบบ TaxRIS และระบบธนาคาร

2.3 ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากำหนดมาตรการคุ้มครองการนำเข้าส่งออกและจำหน่ายสินค้านำเข้าภายในประเทศ ดังนี้

 - ปรับปรุงและแก้ไขระบบการยื่น ชำระ และตรวจสอบการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นผ่านด่านศุลกากรชายแดนแ
ละการขนส่งภายในประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อหน่วยงานจัดเก็บรายได้สามารถเก็บภาษีศุลกากรและภาษีต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
- ปรับปรุงและแก้ไขข้อมูลบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสินค้าประเภทต่าง ๆ ให้ชัดเจนและละเอียด เพื่อจัดหาสินค้าภายในประเทศ
ให้เพียงพอ เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคและบริโภค

2.4 ร่วมกับกระทรวงแผนการและการลงทุน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และ เหมืองแร่ ปรับปรุงระเบียบ
และกลไกการประสานงาน นับตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต ทำสัญญา สำรวจเบื้องต้น สำรวจโดยละเอียด จำหน่าย ส่งออก
และชำระค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่
     2.4.1 สร้างกลไกและออกระเบียบที่เกี่ยวกับวิธีการจัดลำดับความสำคัญของธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ และ
เขื่อนผลิตไฟฟ้า และเร่งติดตามหนี้ของบริษัทที่มีหนี้ค้างชำระ
     2.4.2 ปรับปรุงรัฐบัญญัติ เลขที่ 002/ปทท. ลงวันที่ 27 เม.ย. 2555 ว่าด้วยประเภทสินค้าและอัตราภาษีศุลกากรขาออก
สำหรับการส่งออกแร่และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิต หรือแปรรูป
     2.4.3 ปรับปรุงรัฐบัญญัติ เลขที่ 02/ปทท. ลงวันที่ 18 พ.ย. 2552 ว่าด้วยค่าเช่าและค่าสัมปทาน และนิติกรรมต่าง ๆ
ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้

2.5 สร้างและปรับปรุงกลไกส่งเสริม SMEs และ MSMEs ให้ถือครองบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน ตามกฎหมายว่าด้วยบัญชี
และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
      2.5.1 กำหนดนโยบายส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี
      2.5.2 ยกระดับองค์ความรู้และความสามารถด้านการบัญชีให้พนักงานบัญชีของบริษัทต่าง ๆ
     2.5.3 ตรวจสอบ ประเมินผล และปรับปรุงบริษัทที่ปรึกษาด้านการบัญชีและบริษัทตรวจสอบบัญชี ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
และนิติกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด สร้างแรงจูงใจให้บริษัทที่ปรึกษาด้านการบัญชี และการตรวจสอบบัญชีเป็นผู้แทน
หน่วยงานของรัฐ เพื่อส่งเสริมให้บริษัท บุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานต่าง ๆ ถือครองบัญชีและจัดทำรายงานการเงิน
และการบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐาน
      2.5.4 ร่วมกับหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า แผนการและการลงทุน สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว
และหน่วยงานเกี่ยวข้องผลักดันและกำหนดมาตรการในการถือครองบัญชีตามระเบียบ การอนุญาตดำเนินธุรกิจ
      2.5.5 ออกนโยบายและกลไกใหม่เพื่อให้บริษัทสามารถถือครองบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี และจัดทำรายงานการเงิน
ประจำปีตามมาตรฐานรายงานการเงิน รวมทั้งแก้ไขการถือครองบัญชี 2 ระบบ (ห้ามใช้ หลายบัญชีในหนึ่งบริษัท) และ
ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชี บุคคล และนิติบุคคลสมรู้ ร่วมคิดตกแต่งบัญชีเพื่อเลี่ยง
การชำระเงินเข้ารัฐในทุกรูปแบบ

2.6 ศึกษานโยบาย นิติกรรม และมาตรการเพื่อขยายฐานรายได้จากภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคล และภาษีสิ่งแวดล้อม และภาษีอื่น ๆ

2.7 สานต่อการปรับปรุงระบบคุ้มครองการคลังของรัฐ และยกระดับไปสู่ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อ กับระบบการคุ้มครอง
เศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

2.8 ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและสร้างความเข้มแข็งให้รัฐวิสาหกิจในรูปแบบรัฐลงทุนร่วมกับเอกชน โดยศึกษาการเปลี่ยนทรัพย์สิน
และหุ้นของรัฐให้เป็นทุนในวิสาหกิจที่รัฐลงทุน และปรับปรุงรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน โดยการเปลี่ยนหนี้ของรัฐเป็นทุนโดยให้
เอกชนเข้ามาถือหุ้น พร้อมทั้งยุบหน่วยงานที่ขาดทุนเพื่อลดการแบกรับภาระหนี้สิน ออกกฎระเบียบและระบบคุ้มครอง
ตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารของสภาบริหารและคณะผู้บริหารเพื่อช่วยให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งสร้างระเบียบประเมินผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ และมีมาตรการส่งเสริมและ
ลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารอย่างเด็ดขาด

2.9 ปฏิรูประบบโครงสร้างและบุคคลที่จัดเก็บรายได้รัฐบาลให้มีความกะทัดรัด มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย
เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างครบถ้วนและตรงเวลา รวมทั้งใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด กับข้าราชการที่กระทำการผิดกฎหมาย

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 8 ต.ค. 2564

10/15/2021



กลับหน้าหลัก