ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

ผลสำรวจสถิติกสิกรรมทั่วประเทศ สปป. ลาว ครั้งที่ 3 ปี 2562-2563

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 นางพอนสะหลี สุกสะหวัด หัวหน้าศูนย์สถิติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเผยแพร่ผลการสำรวจ
สถิติกสิกรรมทั่วประเทศ สปป. ลาว ครั้งที่ 3 ปี 2562-2563 โดยมี นายสมดี ดวงดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวง
การเงิน สปป. ลาว และในฐานะอดีตหัวหน้าคณะชี้นำการสำรวจสถิติกสิกรรม ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 และผู้แทนจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นางเพ็ดสะหมอน สอน รองหัวหน้าศูนย์สถิติแห่งชาติ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า การสำรวจสถิติกสิกรรม ครั้งที่ 3 ได้พัฒนา
การสำรวจเป็นระบบการเปรียบเทียบกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา และใช้ Tablet เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล จากผลการสำรวจพบว่า
สปป. ลาวมีครอบครัวที่ทำการเกษตร 644,000 ครัวเรือน โดยการสำรวจในครั้งนี้ ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 40,000 ครัวเรือน
หรือร้อยละ 6.3 ของครอบครัวที่ทำการเกษตรทั้งหมด จาก 8,416 บ้าน ทั่วประเทศ การครอบครองที่ดินของเกษตรกรใน
สปป. ลาว มีลักษณะใกล้เคียงและแตกต่างกันในแต่ละประเภทและภูมิประเทศของแต่ละแขวง โดยครอบครัวที่ทำการเกษตร
ที่มีที่ดินขนาดต่ำกว่า 1 เฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 22 ของครอบครัวที่ทำการเกษตรทั้งหมด มีที่ดิน 1-2 เฮกตาร์ ร้อยละ 31
และมีที่ดินมากกว่า 3 เฮกตาร์ ร้อยละ 22 เกษตรกร

ทั้งนี้ เกษตรกรในภาคใต้ของลาวครอบครองที่ดินขนาดกลางและใหญ่มากกว่าเกษตรกรในภาคกลางและเหนือ โดยใน
แขวงสะหวันนะเขตมีสัดส่วนผู้ครอบครองที่ดินน้อยกว่า 1 เฮกตาร์น้อยที่สุด ในขณะที่แขวงหัวพันเป็นแขวงที่มีสัดส่วน
ผู้ครอบครองที่ดินน้อยกว่า 1 เฮกตาร์มากที่สุด ร้อยละ 56 ด้านแขวงที่มีการครอบครองที่ดินขนาดใหญ่มากกว่า 3 เฮกตาร์ 
คือ แขวงสะหวันนะเขต แต่หากพิจารณาอัตราส่วนที่ดินต่อครัวเรือนมากที่สุด คือ แขวงไซสมบูน

สำหรับการปลูกพืช ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อการบริโภคภายในครอบครัวและจำหน่าย ทั้งนี้ ขึ้นกับประเภทของพืช ในปี 2562-2563
การปลูกพืชส่วนใหญ่เน้นการจำหน่าย แบ่งเป็น (1) พืชที่ปลูกเพื่อจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ได้แก่ ยาสูบ เห็ด และผักบุ้ง 
(2) พืชที่ปลูกเพื่อจำหน่ายโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง อ้อย แตงโม ผักสลัด ถั่วแดง ฝ้าย 
ขิง ถั่วดำ ถั่วเขียว และงา (3) พืชยืนต้นที่ปลูกเพื่อจำหน่าย ได้แก่ กาแฟ ชา มะนาว และ (4) พืชที่ปลูกเพื่อบริโภคภายใน
ครอบครัวและจำหน่าย ได้แก่ มะม่วง

ในปี 2562-2563 ครอบครัวที่ทำการเกษตรได้กู้ยืมเงินเพื่อผลิตสินค้าเกษตร 168,484 ครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 26 ของครัวเรือน
ที่ทำการเกษตรทั้งหมด โดยครัวเรือนที่ทำการเกษตรในแขวงอุดมไซมีการกู้ยืมมากถึง ร้อยละ 66 และครัวเรือนในแขวงสะหวันนะเขต
มีการกู้ยืมน้อยที่สุด ร้อยละ 9 ส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากธนาคารนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม ธนาคารอื่น ๆ
สถาบันการเงินจุลภาค และแหล่งกู้ยืมอื่น ๆ โดยเกษตรกร นำเงินที่กู้ยืมไปซื้อเครื่องมือทางการเกษตร สัตว์เลี้ยง ที่ดินและสร้างฟาร์ม
และอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ซื้อสัตว์เลี้ยง และพันธุ์พืช

การสำรวจสถิติกสิกรรมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมสำคัญของภาคการเกษตร (รองจากการปลูกพืช) มีจำนวน
515,554 ครัวเรือน หรือร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่ทำการเกษตรทั้งหมด โดยสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่ อาทิ โค กระบือ แพะ สุกร ไก่ และเป็ด
คิดเป็นร้อยละ 65-93 ด้านการปลูกพืช โดยในปี 2562-2563 ครัวเรือนที่ปลูกไม้ส่วนใหญ่นิยมปลูกไม้ยางพาราจำนวน 52,611 ครัวเรือน 
บนเนื้อทั้งหมด 91,852 เฮกตาร์รองลงมาคือไม้สัก จำนวน18,845 ครัวเรือน บนเนื้อที่ทั้งหมด 11,611 เฮกตาร์

ที่มา: นสพ. ประชาชน วันที่ 22 ธ.ค. 2564

12/30/2021



กลับหน้าหลัก