ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

การประชุมคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 4

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการ และการลงทุน สปป. ลาว
เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชี้นำในการอำนวยความสะดวกทางการค้าส่วนกลาง และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ
อำนวยความสะดวกทางด้านการค้าทั่วประเทศ โดยมี ดร. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
สปป. ลาว รองหัวหน้าคณะกรรมการชี้นำฯ รวมทั้งผู้แทน จากภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ดร. คำแพงฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงทั้งภายใน ประเทศ ต่างประเทศ
และทั่วโลก แม้ว่าจะเผชิญกับข้อยุ่งยากหลายด้าน แต่ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ประจำปี 2564 ทุกภาคส่วนยังคง
ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะ การสร้างและปรับปรุงนิติกรรม ที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน หากไม่สอดคล้องหรือ
เป็นปัญหาต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าควรที่จะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และการยกระดับการบริการให้มีความสะดวก
รวดเร็ว และมีความโปร่งใส โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ (1) ใช้ระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจปล่อยสินค้า
(2) สร้างกลไกลประสานงานตรวจปล่อยสินค้า และ(3) ส่งเสริมการขนส่งผ่านทางรถไฟลาว-จีนเพื่อลดความแออัดในการขนส่ง ทางรถ
(สำหรับสินค้าส่งออกไปจีน)

ดร. คำแพงฯ ย้ำว่า ปัจจุบัน แม้ว่าระเบียบการหลายฉบับได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว แต่ในการปฏิบัติจริง ยังไม่สอดคล้องและไม่เข้มงวด
ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย อาทิ หน่วยงานประจำด่านและการเก็บค่าธรรมเนียม ยังไม่สอดคล้องกับระเบียบ การตรวจการเคลื่อนย้าย
สินค้าภายในประเทศและการออกใบรับรองการเคลื่อนย้ายสินค้า ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ การปรับปรุงระเบียบการปฏิบัติแล้วเสร็จ
ไปส่วนหนึ่ง แต่ยังมีความล่าช้าเนื่องจาก ยังมี มาตรการ 33 ประการ ที่ควรได้รับการปรับปรุงให้แล้วเสร็จในปีต่อไป นอกจากนี้ ยังเรียกร้อง
ให้ส่วนกลาง และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อติดขัด อาทิ การออกใบรับรองหรือใบอนุญาตใช้เวลานาน ค่าธรรมเนียม
สูงและหลายขั้นตอน รวมทั้งปัญหาการตั้งจุดตรวจเส้นทาง การเลือกปฏิบัติ และการชั่งน้ำหนักรถบรรทุก

ดร. สอนไซฯ กล่าวเกี่ยวกับมาตรการ 5 ข้อ ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย (1) การตรวจตรา และเก็บค่าธรรมเนียมด่านสากล
ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำด่านในช่วง ที่ผ่านมาควรดำเนินการให้สอดคล้องกับเนื้อหา
ที่กำหนดไว้ในดำรัสที่เกี่ยวข้อง (2) แบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปรับปรุงขั้นตอน เวลาและเอกสารในการออกอนุญาตเคลื่อนย้าย
และส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และถ่านขาว หลังมอบ-รับการคุ้มครองโรงงานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และกระทรวงกสิกรรม
และป่าไม้ในเดือน พ.ย. 2564 (3) พิจารณาค้นคว้าเกี่ยวกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไร ภาษีเหมาจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง
นำเข้า-ส่งออกสินค้าในหลายแขวงที่ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบการ (4) ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรตรวจตราการตั้งจุดตรวจ
ตามเส้นทางของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสินค้าและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่การเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ (5) ค้นคว้าการดำเนิน
การที่มีประสิทธิภาพในการส่งออกสินค้าไปจีนผ่านด่านบ่อเต็น-บ่อหาน (โม่ฮาน) การเปิดด่านชายแดนลาว-จีน การขยายกำหนดเวลา
โควตาส่งออกไปจีนภายใต้โครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นและอื่น ๆ

ที่มา: นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 26 ม.ค. 2565
https://laoedaily.com.la/2022/01/26/111360/

02/02/2022



กลับหน้าหลัก