ทองคำ อัญมณีล้ำค่าแห่ง สปป. ลาว
สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีแร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ จากลักษณะของ ภูมิประเทศที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นทวีป
เก่าก่อให้เกิดภูเขาสลับกับที่ราบหุบเขา มีแหล่งแร่สำคัญ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว ถ่านหิน บอกไซต์ ยิปซั่ม เหล็ก
อัญมณี โปแตช สังกะสี แมงกานีส หินปูน โดโลไมต์ และแบไรต์ ในพื้นที่กว่า 570 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 162,104 ตร.กม. คิดเป็น
ร้อยละ 68.49 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนมากขุดพบในแขวงสะหวันนะเขต แขวงไซสมบูน แขวงอุดมไซ แขวงอัตตะปือ และแขวงเซกอง เป็นต้น
เหมืองแร่ทองคำเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในลาวมีอย่างน้อย 2 เหมือง คือ (1) เหมืองเซโปน ที่มีบริษัท Chifeng Jilong Gold Mining
ของจีนถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 90 และรัฐบาลลาวอีกร้อยละ 10 อยู่บริเวณภูหินส้ม และ (2) เหมืองภูเบี้ย ที่บริษัท PanAust หรือ
Pan Australian Resources Ltd. ถือหุ้นร้อยละ 90 และรัฐบาลลาวอีกร้อยละ 10 โดยบริษัท PanAust (ประเทศออสเตรเลีย)
มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากมณฑลกวางตุ้งของจีนคือบริษัท Guangdong Rising Assets Management Co. Ltd, GRAM
สปป. ลาว ส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะทองคำมากกว่าการนำเข้ากว่า 10 เท่า ในเชิงมูลค่าของการผลิต
โดยตลาดการนำเข้า-ส่งออกทองคำของ สปป. ลาว ประกอบด้วย จีน ออสเตรเลีย อินเดีย ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และไทย
ส่วนเครื่องประดับประเภททองคำ และทองคำขาว จะมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของ สปป. ลาว ขณะที่
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของลาว จะต้องสั่งซื้อและนำเข้าทองคำแท่งจากต่างประเทศ
เพื่อนำมาแปรรูปเป็นทองคำรูปพรรณ จึงเป็นสาเหตุให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศจากโรงงานขนาดเล็กและการผลิต
แบบครอบครัวมีต้นทุนสูง เช่น เครื่องประดับประเภทกำไล สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู และแหวน เป็นต้น
ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ใน สปป. ลาว จะมีแต่โรงงานขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศที่ใช้ผลิต
และขึ้นรูปเครื่องประดับ และเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่จะอาศัยการผลิตแบบ hand-made
ซึ่งจะเน้นที่ลวดลายแบบลาวเดิม แสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศ การจำหน่ายทองคำแท่งในประเทศมีไม่มากนัก เนื่องจาก
ตลาดมีกำลังซื้อไม่สูง โดยตลาดเช้าในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับทองคำและเงิน
เครื่องประดับทองคำในลาวมีทั้งแบบ 18K และ 24K ทองคำที่จำหน่ายใน สปป.ลาว มีความบริสุทธิ์ประมาณ 98-99%
มีสีเหลืองอมส้ม มีลวดลายที่โดดเด่น แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านช้าง
ทองคำ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ สปป. ลาว รองจากการส่งออกพลังงานไฟฟ้า สามารถทำรายได้
ปีละ หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ในปี 2561 มูลค่าการส่งออกทองคำทั้งหมด
179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 มูลค่า 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2563 มูลค่า 458 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2564 มีมูลค่า
ส่งออกถึง 962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกทองคำของ สปป. ลาว ในช่วงระยะเวลา 5 ปีมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งใน 10 เดือนแรกของปี 2565 สปป.ลาว ส่งออกทองคำมูลค่ารวมกว่า 684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญของ สปป. ลาว คือ จีน ในปี 2564 มีมูลค่าส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพิ่มขึ้น 30 เท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการส่งออกทองคำไปยังประเทศจีนเพียง 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก
ประชาชนจีนมีรายได้สูงขึ้นจึงนิยมเก็บสะสมทองซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในลักษณะของการลงทุนในสินทรัพย์ เช่นเดียวกับการ
ส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย ที่ในปี 2563 มีมูลค่าการส่งออกทองคำ 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น
331 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
นอกจากนี้ ในปี 2565 สปป. ลาว ได้สำรวจพบเหมืองแร่ทองคำในเมืองเซโปน โดยรัฐบาลได้ให้สัมปทานดำเนินการเหมืองแห่งนี้
แก่บริษัทล้านช้างมิเนรัล หรือ LXML เหมืองแร่ทองคำแห่งนี้มีปริมาณแร่ 9.5 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2566 จะสามารถผลิตได้
400,000 ตันและเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านตันในปีต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถขุดค้นได้อีกอย่างน้อย 7 ปี จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็น
อย่างยิ่งว่าหลังจากดำเนินการผลิตของเหมืองแห่งนี้ สปป. ลาว จะสามารถส่งออกทองคำได้มูลค่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดในปีถัดไป
และจะช่วยพลิกพื้นเศรษฐกิจของประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาลได้หรือไม่ จึงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
https://oec.world/en/profile/bilateral-product/gold/reporter/lao
https://dimex.moic.gov.la/attachments/article/62/1289-Statatistics%20of%20Export%20by%20group%20products%202013-2021.pdf
https://laoedaily.com.la/2022/05/17/114448/
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
-
12/28/2022