หน่วยงานสำคัญในการติดต่อธุรกิจ

สปป. ลาว เปิดซื้อ – ขายพันธบัตรรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 กระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว ในฐานะผู้แทนรัฐบาล สปป. ลาว ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ล้านช้าง มหาชน บริษัท หลักทรัพย์ ทคตล - กท จำกัด และบริษัท หลักทรัพย์ ลาว - จีน จำกัด ได้จัดพิธีเปิดการซื้อ – ขายพันธบัตรรัฐบาล อย่างเป็นทางการ (First trading day) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุน สปป. ลาว ให้มีความหลากหลาย และอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนทั่วไป บุคคล นิติบุคคลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถแลกเปลี่ยนซื้อ – ขายพันธบัตรผ่านตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยมีนางสำเพา เลาสี รองหัวหน้าห้องการกระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว และนางสายสะหมอน จันทะจัก หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีดังกล่าว

สปป. ลาว มีรายรับกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สิทธิพิเศษด้านการค้ากับจีน

ในปี 2560 จีนมีมูลค่านำเข้าสินค้าจากทั่วโลก 1.841 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการนำเข้าของจีนร้อยละ 55.9 มาจากประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สิทธิพิเศษด้านการค้ากับจีน ได้สร้างรายรับให้ สปป. ลาว กว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ร่างกฎหมายว่าด้วยที่ดินฉบับปรับปรุง

นายสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป. ลาว รายงานต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยที่ดิน ฉบับปรับปรุงว่า เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยที่ดินฉบับปัจจุบัน   (ปี 2546) ถูกประกาศใช้มาเป็นเวลา 15 ปี และมีเนื้อหาบางส่วนยังมีช่องว่าง ไม่ครอบคลุม และไม่ชัดเจน เป็นเหตุให้การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่เป็นเอกภาพ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยที่ดิน ฉบับปี 2546 ให้มีเนื้อหาที่ละเอียด ชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ - สังคม และมติของคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคว่าด้วยการความคุ้มครองและพัฒนาที่ดิน

สปป. ลาวให้สัมปทานเขื่อนไฟฟ้าน้ำพูนและเขื่อนไฟฟ้าน้ำบี 1 2 และ 3

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ได้มีการจัดพิธีลงนามสัญญาสัมปทานโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำพูน โดยนายคำเลียน พนเสนา รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนแห่ง สปป. ลาว และนายบุนอู้ม สีวันเพ็ง ประธานสภาบริหารบริษัท น้ำพูนพาวเวอร์ จำกัด เป็นผู้ลงนาม

การหารือร่างข้อตกลงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจและการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 กรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่ง สปป. ลาว ได้จัดการประชุมการระดมข้อคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนต่อร่างข้อตกลงว่าด้วยการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจและการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว มีความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายที่จะให้ สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจในลำดับเลขสองหลักจากลำดับเลขสามหลักในปัจจุบันตามตัวชี้วัดของธนาคารโลกโดยมีนางเข็มมะนี พนเสนา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่ง สปป. ลาว เป็นประธานการประชุม และมีรองรัฐมนตรี หัวหน้ากรม และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

การค้าลาว – เวียดนาม 10 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สปป. ลาว และเวียดนามมีความพยายามในการพัฒนาและผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 2561) มูลค่าการค้าระหว่าง สปป. ลาว – เวียดนาม มีมูลค่ากว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สปป. ลาว ยังขาดดุลการค้ามูลค่ากว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว – จีน

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว - จีน มีความคืบหน้าร้อยละ 46 และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่การจ่ายเงินค่าชดเชยดำเนินการไปแล้วจำนวน 3 งวด มูลค่ากว่า 221 พันล้านกีบ (25.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 167 บ้าน 13 เมือง 4 แขวง และนครหลวงเวียงจันทน์

กระทรวงพลังงานและบ่อแร่แห่ง สปป. ลาว ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน

นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่แห่ง สปป. ลาว ได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกสภาแห่งชาติเกี่ยวกับประเด็นการสร้างเขื่อนไฟฟ้า และการจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ปัจจุบัน สปป. ลาว   มีแหล่งผลิตไฟฟ้าจำนวน 61 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 7,207.24 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 37,366.66     กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และได้จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม จีน และเมียนมา
นายคำมะนีฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้าปี 2540 และการดำเนินนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศทำให้มีนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า (IPP) ซึ่งถือเป็นการริเริ่มการดำเนินธุรกิจไฟฟ้า  ในรูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาในปี 2550 สปป. ลาว มีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 450 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 40 ของครัวเรือนผู้บริโภคทั่วประเทศ

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจ สปป. ลาว ขยายตัว

ในปี 2562 ภาคอุตสาหกรรม การบริการ และเกษตรกรรม มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สปป. ลาว ให้ขยายตัวร้อยละ 6.7 ในขณะที่ปี 2561 ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.5

ปีนี้เศรษฐกิจ สปป. ลาว ขยายตัวช้าลง

นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว ได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมและแผนงบประมาณ – เงินตรา ประจำปี 2561 ในการประชุมสภาแห่งชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 6 ชุดที่ 8 ว่า เศรษฐกิจมหาภาคของ สปป. ลาว ยังมีความมั่นคงและขยายตัว อย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ในจังหวะที่ช้าลง เนื่องจากปัจจัยภายในและภายนอก อาทิ ผลกระทบจากต้นทุนการผลิต ที่สูงขึ้น ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ การเข้มงวดของระบบสินเชื่อธนาคาร รวมไปถึงการเกิด ภัยพิบัติธรรมชาติ และอื่นๆ


Pages: Prev. 1 ... 55 56 57 58 59 ... 77 Next

หน่วยงานภาคเอกชน

Coming soon