เกร็ดการทำธุรกิจ

"ลาว" ไฟเขียวเขตเศรษฐกิจไชยะบุรี

"ลาว" เร่งเดินหน้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไชยะบุรี เชื่อมต่อชายแดนภาคเหนือไทย ด้านอุตรดิตถ์ เร่งยกระดับตลาดชายแดนยึดโมเดลโรงเกลือ




รัฐบาล สปป.ลาว เดินหน้านโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศให้ครบ 25 แห่งภายในปี'63 ล่าสุด เตรียมจัดตั้งในแขวงไชยะบุรี บนพื้นที่ 6,000 ไร่ตรงข้ามด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นแห่งที่ 2 เชื่อมต่อชายแดนภาคเหนือของไทย ด้านหอการค้าจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ป่าให้ลงตัว พร้อมเดินหน้าใช้โมเดลตลาดโรงเกลือยกระดับตลาดชายแดน

นายวิเชียร แสงวิวัฒน์เจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับการแจ้งจากดร.เลียน ทิแก้ว เจ้าแขวงไชยะบุรีว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลสปป.ลาวมีนโยบายสนับสนุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย สปป.ลาว บนพื้นที่ประมาณ 4,000-6,000 ไร่ ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านม่วงเจ็ดตน ด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติจัดตั้งไปแล้วทั้งหมด 11 แห่ง ในจำนวนนี้ 1 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองทำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

ลาวลุยตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทางรัฐบาลสปป.ลาว ได้กำหนดเป้าหมายจะเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะเป็น 25 แห่งให้ได้ภายในปี 2563 เพราะจะทำให้มีศักยภาพสูงรองรับทางการค้าและการลงทุนในอนาคต และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว และแขวงไชยะบุรี ถือเป็นหนึ่งในแขวงที่มีศักยภาพสูงในการค้า และการลงทุนในอนาคต โดยตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศ มีพื้นที่ติดกับประเทศไทย ทางด้านจังหวัดเชียงราย, จังหวัดพะเยา, จังหวัดน่าน, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย

" เจ้าแขวงไชยะบุรีได้หารือร่วมกับทางจังหวัด และภาคเอกชนของจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า แชวงไชยะบุรีมีความพร้อมในการรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยมีสิทธิพิเศษในการเข้าไปลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลสปป.ลาว เพราะต่อไประบบการคมนาคมทางบก และการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขงเชื่อมระหว่างเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี กับเมืองชะนะคาม นครเวียงจันทน์ จะเสร็จในปี 2558 อีกทั้งจะมีการยกระดับด่านท้องถิ่นผาแก้วให้เป็นด่านสากล เพื่อเท่าเทียมกับด่านภูดู่ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย " นายวิเชียร กล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษของสปป.ลาว น่าจะมีการแบ่งโซนในการเข้าไปลงทุน เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม, พื้นที่เกษตร, พื้นที่พาณิชย์ โดยอาจจะมีการเปิดเป็นพื้นที่สัมปทานระยะยาวตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ของแขวงไชยะบุรีให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสปป.ลาวที่ต้องการให้มีการลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ เพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ

ยึดโมเดลโรงเกลือพัฒนาตลาดภูดู่

ขณะที่ฝั่งด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการพัฒนาตลาดชายแดนอย่างต่อเนื่อง และจะมีการส่งมอบให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นผู้บริหารจัดการ โดยใช้โมเดลตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้วมาเป็นแนวทางในการพัฒนา แต่ขณะนี้บางส่วนยังล่าช้าเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ ซึ่งป่าส่วนเป็นพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ ขณะเดียวกัน ทางกรมศุลกากรได้เข้ามาทำการจัดตั้งที่ทำการชั่วคราว เพื่อทำพิธีการศุลกากรอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออก และคาดว่าหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานศุลกากรที่ด่านภูดู่บนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะการค้าระหว่างไทย-ลาว บริเวณด่านภูดู่-ผาแก้วมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะพัฒนาเข้าสู่ระบบการค้าสากล ที่ไม่เพียงแต่ค้ากับแขวงไชยะบุรี แต่ยังค้ากับแขวงอื่นๆ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม และจีนด้วย โดยสังเกตได้จากปริมาณการค้าชายแดนหนาแน่ขึ้น อีกทั้งมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่าปี 2556 น่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมจะมีมูลค่าการค้าชายแดนน้อยมาก เฉลี่ยปีละ 200-300 ล้านบาท

ชี้ภูดู่แลนด์ลิงเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ภายใน 2-3 ปีการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาวในจุดนี้จะเปลี่ยนไป เพราะเส้นทางคมนาคมทางบก เชื่อมโยงระหว่างด่านภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังเมืองปากลาย แขวงไชยยะบุรี สปป.ลาว ระยะทาง 32 กิโลเมตร ตามที่มติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดย สพพ.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สปป. ลาว แบบให้เปล่าร้อยละ 20 และเงินกู้ร้อยละ 80 ของมูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท จะทำการก่อสร้างเสร็จในปี 2560 และทางสปป.ลาวได้สร้างสะพานข้ามน้ำโขงถึง 4 แห่ง ที่จะเชื่อมโยงไปยังแขวงต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกัน ในอนาคตด่านภูดู่จะเป็นพื้นที่แลนด์ลิงค์ ในการเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ 3 ช่องทางสำคัญ คือ 1. จากคุณหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร 2. ระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-ด่านภูดู่-ด่านท้องถิ่นผาแก้ว-เวียงจันทน์ ระยะทาง 646 กิโลเมตร และ 3. ระเบียงเศรษฐกิจพม่า-ไทย-ลาว ระหว่างเมืองเมาะละแหม่งของพม่าเชื่อมต่อมายังด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และต่อเนื่องไปยังเมืองหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระยะทาง 888 กิโลเมตร

ประการสำคัญ ด่านภู่ดู่จะเป็นประตูหน้าด่านไทย-ลาวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของภาคเหนือ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะสามารถเดินทางด้วยทางบกเข้าสู่นครเวียงจันทน์ของสปป.ลาวได้อย่างสะดวก และในมิติของการท่องเที่ยวยังสามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางของสปป.ลาวกับเมืองมรดกโลกอย่างจังหวัดสุโขทัย ด้วยระยะทางเพียง 500-600 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งยังมีสถานีรถไฟศิลาอาสน์ที่จะเชื่อมต่อการขนส่งทางระบบรางไปยังท่าเรือคลองเตย, และแหลมฉบัง ก่อนขนส่งสินค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3



ขอบคุณรูปภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

03/10/2014



กลับหน้าหลัก