ธุรกิจที่สำคัญในพื้นที่

สาขาการลงทุนที่สำคัญ

ไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนสะสมอันดับหนึ่งใน สปป.ลาว โดยมีทั้งหมด 241 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 2,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 โครงการขนาดใหญ่อยู่ในสาขาพลังงานและเหมืองแร่มากที่สุด ประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสะสมใน สปป.ลาวลำดับรองลงมาได้แก่ จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ แคนาดา รัสเซีย

สาขาที่ลาวได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด คือ การผลิตพลังงานไฟฟ้า รองลงมา ได้แก่สาขาเหมืองแร่ ภาคบริการ การเกษตร อุตสาหกรรม-หัตถกรรม การค้า การก่อสร้าง โรงแรมและร้านอาหาร


โครงการลงทุนต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติ (แยกตามประเทศผู้ลงทุน)

ปี 2552 2553 2554
ประเทศ โครงการ มูลค่าการลงทุน
(ดอลลาร์สหรัฐ)
โครงการ มูลค่าการลงทุน
(ดอลลาร์สหรัฐ)
โครงการ มูลค่าการลงทุน
(ดอลลาร์สหรัฐ)
1 ไทย 37 908,641,398 4 3,736,040 241 2,649,624,157
2 จีน 47 932,892,867 16 344,028,084 340 2,585,616,604
3 เวียดนาม 48 1,421,214,766 4 49,905,000 211 2,163,124,657
4 ฝรั่งเศส 7 11,732,567 4 210,000 68 454,083,746
5 ญี่ปุ่น 5 3,730,000 1 8,107,960 42 433,442,363
6 เกาหลีใต้ 18 74,874,000 3 3,350,000 142 352,807,000
7 อินเดีย 3 2,477,000 - - 6 352,807,000
8 ออสเตรเลีย 2 666,000 1 500,000 32 334,453,528
9 มาเลเซีย 7 10,924,582 1 150,000 43 351,317,974
10 สิงคโปร์ 3 5,689,150 1 5,300,000 29 113,240,650

หมายเหตุ ปีในตารางหมายถึงปีงบประมาณของ สปป.ลาว คือ ตุลาคม-กันยายน ปีถัดไป ข้อมูลของปี 2553 เป็นข้อมูลเฉพาะ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ คือ ตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2552


1) พลังงาน

รัฐบาลลาวกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศโดยตั้งเป้าหมายให้ สปป.ลาวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” หรือแหล่งพลังงานสำรองในอนุภูมิภาค สปป.ลาวมีศักยภาพที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 23,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ภายในปี 2563 จะสามารถดำเนินโครงการพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้วเสร็จจำนวน 29 โครงการ และผลิตไฟฟ้าได้ 8,657 เมกะวัตต์

ณ พฤษภาคม 2553 ลาวมีเขื่อนพลังน้ำเกือบ 50 แห่ง ผลิตไฟฟ้าได้รวมกันมากกว่า 1,500 เมกะวัตต์ มีเขื่อนที่ดำเนินการโดยเอกชน 2 แห่ง คือ เทินหินบูนที่บอลิคำไซ และห้วยเหาะที่จำปาสัก-อัดตะปือ


ความร่วมมือด้านไฟฟ้าและพลังงานไทย-ลาว

รัฐบาลไทยและ สปป.ลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว ส่งจำหน่ายให้แก่ไทยจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2543 ต่อมาได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 และฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็น 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2549 และ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ตามลำดับ

เนื่องจาก สปป.ลาวมีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าอีกหลายโครงการและตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยปี 2550 (Power Development Plan หรือ PDP 2007) ได้ประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นในช่วงปี 2550-2554 ประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ต่อปี และช่วงปี 2555-2559 ประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ต่อปี รัฐบาลไทยจึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2550 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่มจาก 5,000 เมกะวัตต์เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในหรือหลังปี 2558

ปัจจุบัน ลาวมีโครงการผลิตไฟฟ้าให้แก่ไทยรวม 17 โครงการ กำลังการผลิต 9,395 – 9,890 เมกะวัตต์ จำแนกประเภทเป็น

  1. โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,574 เมกะวัตต์ แยกเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน โครงการห้วยเฮาะ และโครงการน้ำเทิน 2 รวมกำลังการผลิต 1,266 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำงึม 2 โครงการเทิน-หินบูน (ส่วนขยาย) รวมกำลังการผลิต 835 เมกะวัตต์ และเตรียมก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา กำลังการผลิต 1,473 เมกะวัตต์
  2. โครงการที่ลงนาม Tariff MOU แล้ว 1 โครงการ กำลังการผลิต 430 เมกะวัตต์ (Tariff MOU เป็นบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้าซึ่งจะมีการระบุอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขที่สำคัญไว้สำหรับการจัดทำ Power Purchase Agreement - PPA ต่อไป)
  3. โครงการที่ ครม. ให้ความเห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว และกำลังรอลงนาม Tariff MOU 1 โครงการ กำลังการผลิต 1,220 เมกะวัตต์
  4. โครงการที่เคยลงนาม Tariff MOU ได้แล้ว แต่ MOU หมดอายุ หรือมีการยกเลิกแล้วเพื่อขอเจรจาปรับราคาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,826 เมกะวัตต์
  5. โครงการที่มีศักยภาพ ซึ่งผู้พัฒนาโครงการอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ/ อยู่ระหว่างเข้ามาให้รายละเอียดโครงการแก่ กฟผ. 6 โครงการ กำลังการผลิตประมาณ 2,335-2,830 เมกะวัตต์
โครงการ ปริมาณรับซื้อ(MW) กำหนดจ่ายไฟฟ้า
โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. แล้ว 1266
1. เทิน – หินบูน 220 31 มี.ค. 2541
2. ห้วยเหาะ 126 3 ก.ย. 2542
3. น้ำเหิน 2 920 15 มี.ค. 2553
โครงสร้างที่กำลังก่อสร้าง 2,308
1. น้ำงึม 615 มี.ค. 2554
2. เทิน – หินบูน (ส่วนขยาย) 220 มี.ค. 2555
3. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา 1,473

2) เหมืองแร่

สปป.ลาวมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในปี 2547 รายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP และเพิ่มเป็นร้อยละ 5.3 ในปี 2549 ตั้งแต่ปี 2545-2552 เหมืองแร่เป็นสาขาการลงทุนอันดับ 2 ในลาว มีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐส่วนอันดับ 1 คือพลังงานไฟฟ้า มูลค่าลงทุน 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินแร่ที่สำคัญของ สปป.ลาวได้แก่ ทองคำ ทองแดง เงิน บ็อกไซต์

ต่างประเทศมีโครงการลงทุนทำเหมืองแร่ใน สปป.ลาว มากกว่า 140 โครงการ ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดคือจีน โดยมีมากกว่า 50 บริษัท ลงทุนใน 90 โครงการ โครงการที่ขุดค้นแล้ว เช่นเหมืองถ่านหินและเหมืองทองแดง เมืองยอดอู แขวงพงสาลี เหมืองสังกะสี เมืองนาหม้อ แขวงอุดมไซ เป็นต้น

เหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว คือ เหมืองเซโปน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเมืองบัวละพาและเมืองไซบัวทอง แขวงคำม่วน และเมืองวีละบุลี เมืองเซโปน และเมืองอาดสะพังทอง แขวงสะหวันนะเขต รวม 1,250 ตารางกิโลเมตร เดิมบริหารโดยบริษัท Oz Minerals จากออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาบริษัท China Minmetals จากจีนได้ซื้อกิจการส่วนใหญ่และตั้งบริษัทใหม่ในนาม Minerals and Metals Group (MMG) เมื่อปี 2552

ณ กุมภาพันธ์ 2553 เหมืองเซโปนลงทุนไปแล้วประมาณ 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 ผลิตทองแดงได้ 67,500 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปไทยและเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2546-มีนาคม 2553 เหมืองเซโปนผลิตทองคำได้ 1 ล้านออนซ์ และทองแดง 300,000 ตัน

เหมืองสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ เหมืองพูคำ แขวงเวียงจันทน์ บริหารโดยบริษัท Phu Bia Mining ซึ่งบริษัท Pan Aust จากออสเตรเลียถือหุ้นร้อยละ 90 และรัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 10 เหมืองนี้อยู่ในพื้นที่สัมปทาน 2,636 ตารางกิโลเมตรที่แขวงเวียงจันทน์ ในปี 2551 ผลิตทองแดงได้ 24,929 ตัน ทองคำ 25,261 ออนซ์ และเงิน 159,676 ออนซ์ สำหรับปี 2553 บริษัทคาดการณ์ว่าจะผลิตทองคำได้ 40,000 ออนซ์ เงิน 300,000 ออนซ์ และทองแดง 63,000 ตัน

บริษัท PanAust มีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเหมืองทองและเงินที่บ้านห้วยไซ ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองพูคำ 25 กิโลเมตร และมีขนาดใหญ่กว่า โดยอาจจะจ้างแรงงานถึง 500 คน มีปริมาณทองคำและเงินให้ขุดค้นได้ 6 ปี คาดว่าจะผลิตทองคำได้ปีละ 100,000-130,000 ออนซ์ และผลิตเงินได้ปีละ 700,000-800,000 ออนซ์ นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังสำรวจโครงการเหมืองทองแดงที่เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง

นอกจากจีนและออสเตรเลีย เวียดนามเป็นอีกประเทศที่มีโครงการสาขาเหมืองแร่ใน สปป.ลาว เช่น บริษัท Ha Tinh Trade and Mineral Corporation ซึ่งลงทุนทำโรงงานผลิตยิปซั่มที่แขวงคำม่วน คาดว่าจะผลิตได้ 60,000 ตันต่อปีเมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบ และบริษัท Vinacomin มีโครงการทำเหมืองเหล็กที่แขวงเชียงขวาง ส่วนบริษัทเอกชนไทยที่ลงทุนด้านเหมืองแร่ คือ บริษัท ผาแดงอินดัสตรี ซึ่งมีโครงการจะทำเหมืองสังกะสีที่แขวงเวียงจันทน์


3) การเกษตร

โครงการลงทุนด้านการเกษตรขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว ได้แก่ การทำไร่กาแฟ การปลูก ยางพารา การทำไร่อ้อย การเลี้ยงสัตว์ และการปลูกพืชเกษตรภายใต้ความร่วมมือแบบ Contract Farming เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากตลาดภายในประเทศมีจำกัด ส่วนเกษตรกรรายย่อยอาจเพาะปลูกพืชการเกษตรเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคในท้องถิ่น อุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานน้ำตาลโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกร เป็นต้น

พื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่สำคัญของ สปป.ลาว คือ ที่ราบสูงบริเวณในแขวงจำปาสัก ในปี 2551 ลาวผลิตกาแฟได้ประมาณ 15,000 ตัน ส่งออกร้อยละ 95 บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ปลูกกาแฟคือกลุ่มบริษัทดาวเฮือง ผู้ผลิตกาแฟยี่ห้อดาว และมีเอกชนไทยที่ลงทุนปลูกกาแฟที่แขวงจำปาสัก เช่น บริษัทปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด ของเครือไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น บริษัททนะอินเตอร์อาโกร จำกัด บริษัทโชคชัยคอร์ปอเรชั่น เทรดดิ้ง บริษัทสุกสะหวันการเกษตร เป็นต้น

การปลูกยางพาราพบมากในแขวงภาคเหนือและภาคใต้ เช่น หลวงน้ำทา สะหวันนะเขตอัดตะปือ โครงการส่วนมากได้รับพื้นที่สัมปทานขนาดใหญ่ผู้ลงทุนรายใหญ่คือ จีนและเวียดนาม สำหรับเอกชนไทยมีบริษัทไทยฮั้วยางพารา ซึ่งร่วมลงทุนกับเอกชนลาวที่แขวงสะหวันนะเขตและแขวงคำม่วน ส่วนที่แขวงจำปาสักมี บริษัทจำปาสักสวนยางพารา จำกัด และบริษัทเหล่าบัณฑิตพัฒนากสิกรรม เป็นต้น

สำหรับการปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาลพบมากที่แขวงสะหวันนะเขตและคำม่วน เอกชนไทยที่ลงทุนใน สปป.ลาว คือ บริษัทมิตรลาว ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทมิตรผล จำกัด เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2549 ที่แขวงสะหวันนะเขต มูลค่า 3,000 ล้านบาท เริ่มผลิตนํ้าตาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ส่งออกไปสหภาพยุโรป 22,800 ตัน หรือร้อยละ 95 ส่วนที่เหลือจำหน่ายในประเทศ บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาลอีก 1 แห่ง

เอกชนไทยรายใหญ่ที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกษตร คือ บริษัท ซี.พี.ลาว จำกัด มีทุนจดทะเบียน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2550 ได้เปิดโรงงานอาหารสัตว์ กำลังการผลิตเดือนละ 6,000 ตัน บนพื้นที่ 62.47 ไร่ ที่บ้านพูคำ เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ และมีฟาร์มเลี้ยงสุกรและฟาร์มเลี้ยงไก่บนพื้นที่ 201.41 ไร่ รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลา


4) บริการ

ในปี 2552 ลาวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2,008,000 คน เพิ่มจากปี 2550 ร้อยละ 16 สร้างรายได้ 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นแหล่งรายได้อันดับ 2 รองจากเหมืองแร่ สปป.ลาวตั้งเป้าให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มเป็น 4 ล้านคนภายในปี 2563 และให้สร้างรายได้ 600-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ สปป.ลาว จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการตามเมืองท่องเที่ยว เช่น นครหลวงเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติลาวประเมินว่าปัจจุบันมีโรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิงทั่วประเทศประมาณ 2,291 แห่ง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ชนบท สร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

โดยทั่วไปนักลงทุนไทยมักลงทุนในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนมากเป็นร้านอาหารโรงแรมขนาดเล็กถึงกลาง สปา ส่วนกิจการอื่นๆ เช่น ร้านดอกไม้ ร้านทำผม มินิมาร์ท มีอยู่บ้างที่นครหลวงเวียงจันทน์ กิจการภาคบริการที่รัฐบาลลาวส่งเสริม คือ โรงพยาบาล โดยจะได้รับยกเว้นค่าเช่าที่ดินหรือค่าสัมปทานระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งได้รับยกเว้นภาษีกำไรเพิ่มเติมจากมาตรการปกติอีก 5 ปี


รายชื่อสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ

อุตสาหกรรม

  • เครื่องจักรกลการเกษตร
  • เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว
  • รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
  • เคมีภัณฑ์
  • เครื่องดื่ม
  • คอมพิวเตอร์อุปกรณ์ ส่วนประกอบ
  • ปูนซีเมนต์/เหล็กและผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  • ของตกแต่งบ้าน/โรงแรม/ร้านอาหาร

เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

  • ข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี
  • อาหารสำเร็จรูป
  • อาหารทะเลแช่แข็ง
  • ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
  • ไก่สดแช่เย็น-แข็ง/เนื้อสัตว์ชิ้นส่วนต่างๆ

ธุรกิจบริการ

  • สปา โรงแรม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
  • ร้านอาหาร และแฟรนไชส์
  • ออกแบบก่อสร้าง /การวางระบบ IT
  • การศึกษา สถานพยาบาล
  • ธนาคาร ประกันภัย ลิสซิ่ง ตลาดหลักทรัพย์
  • บันเทิง ถ่ายทำภาพยนตร์
  • ห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
  • อู่ซ่อมรถ ล้างรถ และประดับยนต์
  • ร้านเสริมสวย สถาบันความงาม
  • สถาบันฝึกอบรม
  • ซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • บำรุงดูแลรักษา/ซ่อมแซม อาคาร เขื่อน ระบบ IT คอมพิวเตอร์ฯลฯ
  • ตกแต่งภายใน / จัดสวน
  • จัดงานเลี้ยง / งานพิธี
  • กำจัดแมลง / วัชพืช

01/01/2014



กลับหน้าหลัก