ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ

จาก Local สู่ CLMV ของดีใกล้ตัว

จาก Local สู่ CLMV ของดีใกล้ตัว ขณะนี้รัฐได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศให้กับกระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 2,092 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้รับงบประมาณจำนวน 7 โครงการ โดยคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภูมิภาค (จีดีพีภูมิภาค) ในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10%

โดยทั้ง 7 โครงการที่ดำเนินการผลักดันนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลักดันการเปิดตลาดในรูปแบบต่างๆ โครงการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี โดยโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือเอ็นอีเอ ซึ่งจะเพิ่มหลักสูตรในการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ เน้นการเจาะตลาด CLMV ให้มากขึ้น นอกเหนือจากหลักสูตรเพิมที่มุ่งการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ เพราะรัฐมองว่า CLMV เป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการของไทยทั้งในการส่งออกและเข้าไปลงทุน

การค้าการส่งออกของไทยไปสู่ตลาดศักยภาพสูง (Dynamic Market) เช่น ตลาด CLMV ที่มีอัตราขยายตัวไตรมาสแรก ปี 2560 ร้อยละ 15.5 คิดเป็นมูลค่า 5,992.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภณฑ์ โดยเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด ด้านภาพรวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ไตรมาสแรก ปี 2560 เป็นมูลค่า 315,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับปี 2559 ร้อยละ 5.18 โดยแบ่งเป็นการส่งออก เป็นมูลค่า 195,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับปี 2559 ร้อยละ 16.10 และการนำเข้า เป็นมูลค่า 120,393 ล้านบาท ลดลงจากเดิมเมื่อเทียบกับปี 2559 ร้อยละ 8.76 เกิดดุลการค้าเกินดุล เป็นมูลค่า 74,933 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าตลาด CLMV เป็นตลาดใกล้ตัวเรามาก เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบไทยขนาบซ้ายและขวาทั้ง 4 ประเทศ แต่มีดินแดนติดประเทศไทย 3 ประเทศ มีด่านและตลาดการค้าชายแดนอยู่จำนวนมาก รัฐหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น นับเป็นการเล็งเห็นถึงเศรษฐกิจฐานรากที่มีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ส่วนภูมิภาคจำนวนมาก และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้วผลักดันโครงการสำคัญต่างๆสู่ภูมิภาค ถือว่านโยบายรัฐนั้นมาถูกทาง ตอบโจทย์แก้ปัญหาตรงจุดที่ประสบปัญหา

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดชายแดนต่างๆ ดังนั้น นโยบายรัฐดังกล่าวควรมีความชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคนั้นๆ หรือผู้ประกอบการภาคส่วนใด เพื่อเสริมศักยภาพให้เพิ่มขึ้นในการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะตลาดการค้าชายแดน CLMV ที่ปัจจุบันจะมีผู้ค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในฝั่งไทยด้วยเป็นจำนวนมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยระดับหนึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการที่มีกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญนั้น รัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพทางการค้า ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มอื่นที่สินค้าส่งออกนั้นมีตัวเลขที่ลดลง รัฐก็สนับสนุนส่งเสริมเติมเต็มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันการค้าได้มากขึ้น การค้า การลงทุน และการส่งออก เพื่อเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

ด้านผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนมากที่สุดในประเทศ ถึงร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมด และปัจจุบันยังมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มีความจำเป็นต้องปรับตัวให้รับต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน พร้อมรับมือกับการแข่งขันทั้งด้านออฟไลน์และออนไลน์ การขาดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการธุรกิจรูปแบบต่างๆ การขาดแหล่งทุน ขาดประสบการณ์จากการประกอบธุรกิจ นับเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมจำนวนมากนั้นมีอัตราการเติบโตทางด้านธุรกิจที่น้อย ทั้งที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

นโยบายรัฐควรส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ นโยบายรัฐนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพาณิชย์ 4.0 ซึ่งจะเป็นการค้าและบริการแบบไร้พรมแดน โดยรวมถึงการนำนวัตกรรมมาใช้ในสินค้าและบริการ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ และรวมถึงการค้าออนไลน์แบบอี-คอมเมิร์ซ การกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคโดยพัฒนาผู้ประกอบการตามโครงการดังกล่าวนั้น สามารถยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมให้เริ่มก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ชื่อนโยบาย เพราะยุค 4.0 นั้น คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวล้ำ รวดเร็ว สะดวกสบาย และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน การค้าขาย การผลิต รวมทั้ง Real Sector ด้วย

ดังนั้น โครงการตลาดต่างๆในความเป็นจริงตามหลักการนั้นจะเป็นเพียง 1.0 คือ การค้าขายในท้องถิ่น หรืออาจเป็น 2.0 คือ การค้าขายภายในประเทศ โครงการต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นส่วนสำคัญ แต่อาจตีความหมายรวมว่าเป็น 4.0 ได้หรือไม่ หรือจะทำให้เป็น 4.0 แท้จริงอย่างไร อีกทั้งการเร่งพัฒนาผู้ประกอบการและเกษตรกรในภูมิภาคให้มีความรู้ เรื่องช่องทางการจำหน่ายทางตลาดสมัยใหม่ผ่านระบบออนไลน์ให้เพิ่มขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการหันมาใช้แอพพลิเคชั่น เช่น Facebook และ Line นั้น รัฐจะถือเป็นการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาส่งเสริมองค์ความรู้จากภาครัฐเพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยหรือไม่

 Local Economy 4.0 กับ CLMV 4.0 ใครจะเกิดก่อนกัน ?

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 5202 วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 หน้า V3
ที่มารูปภาพ : http://www.bangkokbanksme.com/article/7118

05/10/2017



กลับหน้าหลัก